วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พบหลักฐานไขภาพปริศนา “สมเด็จโตสอนหนังสือ”

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓
พบหลักฐานไขภาพปริศนา “สมเด็จโตสอนหนังสือ”

ขอบคุณภาพคมชัดจาก gettyimages

หลายท่านที่ศึกษาประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และติดตามสะสมพระสมเด็จของท่านน่าจะเคยได้เห็นรูปพระสงฆ์สอนศิษย์นี้กันมาก่อนแล้ว   มักกล่าวกันว่าเป็นรูปสมเด็จโตกำลังสอนพระพุทธเจ้าหลวง ร.๕   และหลายท่านคงเคยเห็นข้อมูลที่โต้แย้งว่า ไม่ใช่สมเด็จโต และ ร.๕   แต่ก็ไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันให้เชื่อว่าข้อโต้แย้งนั้นถูกต้องหรือไม่

ข้อโต้แย้งดังกล่าวปรากฏตามบทความจาก มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๓๐๒  ดังนี้

ใครก็ตามที่ผ่านสายตาไปยังหนังสือซึ่งรวบรวมเรียบเรียงเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม มาบ้างแล้ว อย่างน้อยต้องพบภาพพระสงฆ์สอนหนังสือเด็ก
ภาพที่เข้าใจกันว่าเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) อันเป็นภาพที่ปรากฏบนหน้าหนังสือเกี่ยวกับอัตโนประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) อยู่บ่อยๆ จนมีบางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนตลอดมา แท้จริงภาพนี้มีการเข้าใจผิดมาอย่างเนิ่นนาน

ในนิตยสาร "ชุมนุมจุฬาฯ" ปีที่ ๑๔ เล่มที่ ๓ ฉบับ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ปรากฏการตีพิมพ์ภาพนี้ ทั้งบรรยายว่า
"พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระปิยมหาราช เมื่อทรงพระเยาว์กำลังทรงพระอักษรกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม
ภาพโดยความเอื้อเฟื้อของ พล.ร.ต.หลวงสุวิชาแพทย์"

หากสังเกตจะพบว่าสมณศักดิ์ของท่านนั้นผิด สมณศักดิ์ของท่านซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ "พระธรรมกิติ" ในปี พ.ศ.๒๓๙๕ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๖๔ ปีแล้ว   ในปี พ.ศ.๒๓๙๗ ทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ "พระเทพกวี" จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๐๗ ทรงสถาปนาเป็น "สมเด็จพระพุฒาจารย์"

ขณะเดียวกัน ในคำแถลงจากสาราณียกรของหนังสือ "ชุมนุมจุฬาฯ" ดังกล่าว ก็ว่า
"พระบรมฉายาลักษณ์ขององค์สมเด็จพระปิยมหาราชในสมัยยังทรงพระเยาว์อันเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาดูได้ยาก อัญเชิญมาประดับเป็นศรีแก่เล่ม เนื่องในวาระสำคัญนี้ด้วย"
ยิ่งเสริมความเชื่อเป็นอันมากว่า คือ พระบรมฉายาลักษณ์ ร.๕ ครั้งทรงพระเยาว์

แท้จริงภาพนี้มีที่มาในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๔ หน้า ๓๓ ปรากฏการตีพิมพ์ภาพใบนี้ พร้อมคำอธิบายจาก "นิวัติ กองเพียร" ว่า รูปนี้ไม่ใช่รัชกาลที่ ๕ กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ เหตุผลประกอบดังนี้
๑. รูปนี้ได้มาจากหนังสือฝรั่งชื่อ "SIAM"
๒. พัดรองที่วางพิงผนังอยู่นั้น เป็นพัดที่นิยมทำก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาไม่มีความนิยมในการทำพัดรองอีกเลย
๓. ถ้ารูปนั้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์จริง ท่านต้องห่มดองและรัดประคดอก มิใช่อย่างที่เห็นในรูป แม้แต่พระรุ่นเก่าที่วัดระฆังโฆสิตาราม ที่เคยเห็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ก็ยืนยันว่ามิใช่สมเด็จแน่
๔. เจ้านายหลายพระองค์ ที่เป็นพระธิดาหรือพระโอรสก็ยืนยันว่า มิใช่พระราชบิดาแน่นอน

หนังสือฝรั่ง "SIAM" ที่ว่า ก็คือ หนังสือชื่อยาวเฟื้อยว่า "TWENTIETH CENTURY IMPRESSION OF SIAM : ITS HISTORY, PEOPLE COMMERCE, INDUSTRIES, AND RESOURCES WITH WHICH IS INCORPORATED AN ABRIDGED EDITION OF TWENTIETH CENTURY IMPRESSIONS OF BRITISH MALAYA"

แปลชื่อเป็นไทยว่า "เรื่องน่ารู้ของสยามในศตวรรษที่ 20 ว่าด้วยประวัติศาสตร์ พลเมือง พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และทรัพยากร รวมเรื่องน่ารู้ของบริติชมลายาในศตวรรษที่ 20 โดยสังเขป" อันเป็นหนังสือที่ตีพิมพ์จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ.2452 อันเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ทั้งยังให้คำอธิบายรูปนี้ไว้ว่า "Buddhist Priest and Disciple"

นอกจากนี้ ในการจัดทำหนังสือเล่มดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระกรุณาประทานภาพส่วนพระองค์ อันเกี่ยวเนื่องกับประเทศสยามให้กับผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามแต่ ในหนังสือที่ระลึกงานสงกรานต์ชลบุรี ประจำปี พ.ศ.๒๕๐๗ ในเรื่อง "สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)" อันเขียนโดย อธึก สวัสดิมงคล ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ภาพพระสงฆ์สอนหนังสือเป็นภาพที่เข้าใจผิดและคลาดเคลื่อน ดังในหน้า ๑๑ ที่ให้ข้อมูลความเป็นมาของภาพใบนี้จากลายพระหัตถ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตอบคำถามของ อธึก สวัสดิมงคล ว่า

"สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นไม่ช้าจะเป็นอะไรๆ สักร้อยอย่าง เป็นเรื่องหากินทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ใครอยากรู้อะไร ก็นั่งวิปัสสนาเอาได้ ไม่ช้าคงต้องร้อนถึงทางการเข้าเล่นด้วยเป็นแน่ มีผู้เอาภาพพระแก่กับเด็กลูกศิษย์สอนหนังสือกัน ฉันจำได้ว่า "โรเบิร์ต เลนส์" ขอประทานให้เสด็จพ่อทรงช่วยทำโปสการ์ดเผยแพร่เมืองไทย และท่านได้ถ่ายรูปฉันแต่งลาวน่าน หญิงเหลือส่องกระจก พร้อมกับทำรูปนี้ด้วย แต่บัดนี้กลายเป็นรูปสมเด็จโตสอนหนังสือพระพุทธเจ้าหลวง แย่จริงๆ น่ากลัวพงศาวดารจะเลอะเทอะกันใหญ่เสียแล้ว"

สำหรับ โรเบิร์ต เลนส์ เป็นช่างภาพชาวเยอรมัน เจ้าของห้องถ่ายรูปโรเบิร์ต เลสน์ ดำเนินธุรกิจถ่ายรูป เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เป็นช่างภาพราชสำนักรัชกาลที่ ๕

นอกจากนี้ ยังมีผู้กล่าวว่า พระภิกษุในภาพคือ พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ซึ่งภาพดังกล่าวอาจจะไม่ได้ถ่ายที่ชัยนาท ถ้าหากเป็นหลวงปู่ศุขจริง อาจจะถ่าย ณ ตำหนักเหลืองในวังพลเรือเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก็เป็นไปได้  ทั้งนี้ เพราะหลวงปู่ศุข จะมาพำนักที่ตำหนักเหลืองเป็นประจำทุกปี เพื่อมาร่วมงานในพิธีไหว้ครูประจำปีของพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งทรงเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นภาพของหลวงปู่ศุข ทั้งนี้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิสกุล เมื่อครั้งทรงตอบคำถามของ อธึก สวัสดิมงคล ก็มิได้เอ่ยถึงว่าเป็นพระภิกษุรูปใด

จากข้อโต้แย้งดังกล่าวซึ่งมีหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (๒๔๓๘ - ๒๕๓๓) เป็นผู้ประทานคำอธิบายเองโดยตรง ทำให้มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมากว่า รูปดังกล่าวไม่น่าจะใช่สมเด็จโตกับพระพุทธเจ้าหลวง ร.๕   แต่เชื่อว่าหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งกระผมเองก็ยังไม่มั่นใจเท่าใดนัก เพราะยังไม่เคยเห็นเอกสารข้อมูลอื่นมาสนับสนุน  จนกระทั่ง ... ผมได้พบข้อมูลหนังสือฝรั่งเล่มนี้ ... TWENTIETH CENTURY IMPRESSIONS OF SIAM

ขอนำรูปหนังสือดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องมาลงไว้ให้ศึกษาเท่านั้น








ประการแรก หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อปลายปี ค.ศ.๑๙๐๘ หรือ พ.ศ.๒๔๕๑ (ไม่ใช่ ๒๔๕๒ และไม่มีเรื่องของบริติชมลายา ดังที่บทความโต้แย้งลงไว้)  กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พลเมือง พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ทรัพยากร และเรื่องอื่น ๆ ของสยามในศตวรรษที่ ๒๐   การรวบรวมข้อมูลและรูปถ่ายจำนวนมากเช่นนี้น่าจะต้องใช้ระยะเวลานานนับปี  กล่าวคือ อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๐ ถึง ๒๔๕๑

ประการที่ ๒ ในหน้าสองของคำนำหนังสือได้กล่าวขอบพระทัยแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (H.R.H. Prince Damrong) ที่ทรงให้ความสนพระทัยและประทานพระโอวาทเป็นอย่างมากแก่สำนักพิมพ์  พร้อมได้ประทานคอลเล็กชั่นภาพถ่ายของสยามให้แก่สำนักพิมพ์ด้วย    สอดคล้องกับที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัยได้ประทานคำอธิบายไว้ว่า "โรเบิร์ต เลนส์ ขอประทานให้เสด็จพ่อทรงช่วยทำโปสการ์ดเผยแพร่เมืองไทย และท่านได้ถ่ายรูปฉันแต่งลาวน่าน หญิงเหลือส่องกระจก พร้อมกับทำรูปนี้ด้วย”  ซึ่งหมายความว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายพระรูป พระสงฆ์สอนศิษย์ (Buddhist Priest and Disciple) ด้วยพระองค์เอง  และได้ประทานรูปถ่ายนี้ให้แก่สำนักพิมพ์ของอังกฤษเพื่อใช้ประกอบในการทำหนังสือเล่มนี้นั่นเอง

ประการที่ ๓ ในหนังสือปรากฏรูปพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ที่มีพระชนมพรรษามากแล้ว  ซึ่งหากรูปนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ พระพุทธเจ้าหลวงย่อมมีพระชนมพรรษาประมาณ ๕๕ พรรษา สอดคล้องกับรูปถ่าย และเป็นข้อยืนยันประการหนึ่งว่ารูปพระสงฆ์กับศิษย์นั้นไม่ใช่รูปของพระพุทธเจ้าหลวง ร.๕

ประการสุดท้าย ปรากฏรูปพระสงฆ์สอนศิษย์ (Buddhist Priest and Disciple) ในหน้าที่ ๒๒๓ ซึ่งอยู่ในหัวเรื่อง “มารยาทและจารีตประเพณี” (Manners and Customs)  รูปนี้น่าจะถ่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ หรือ ๒๔๕๑ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งขณะนั้นหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย (๒๔๓๘ - ๒๕๓๓) มีชันษาประมาณ ๑๒ หรือ ๑๓ ปี  สอดคล้องกับที่ประทานคำอธิบายว่า คือ รูปของพระองค์เอง   ส่วนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สิ้นชีพิตักษัยไปก่อนแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕

จากข้อมูลวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นที่เชื่อมั่นได้อย่างแน่แท้ว่า รูปพระสงฆ์สอนศิษย์ ไม่ใช่รูปของสมเด็จโตและรัชกาลที่ ๕ 

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า พระเครื่องที่มีรูปพระสงฆ์สอนศิษย์เป็นพระปลอม  เพราะพระสมเด็จนั้นมีการสร้างหลายสมัยด้วยกัน มีทั้ง พ.ศ.๒๔๐๘, ๒๔๑๒, ๒๔๑๕, ๒๔๒๕, ๒๔๓๕ จนถึงปี ๒๔๕๑  เพียงแต่ว่าการสร้างหลังปี ๒๔๑๕ นั้นไม่ทันสมเด็จโต  แต่ก็เป็นพระสายวังที่มีอายุและมีคุณค่าสูง  ควรค่าแก่การบูชาสะสมมิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพระที่สร้างในปัจจุบันนี้เลย






วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ศูนย์มหาสมบัติ ๓ แผ่นดิน แจกพระสมเด็จ

๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓

ด่วน !!!

ศูนย์มหาสมบัติ ๓ แผ่นดิน แจกพระสมเด็จ ๒๐๐,๐๐๐ องค์

ท่านใดยังไม่มีพระสมเด็จ ...คลิก https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSer5e5wMf3LZ_jIA4hRl-2eS0Vhk2CnqQRKaBaqcOcH1RioFw/viewform

อ่านเงื่อนไขข้อปฏิบัติให้เข้าใจชัดเจน แล้วกรอกข้อมูลลงทะเบียนได้เลยครับ

ปล. -ไม่ทราบว่าหมดเขตเมื่อใด
      - การพิจารณาแจกพระขึ้นอยู่กับศูนย์มหาสมบัติ ๓ แผ่นดิน  ไม่เกี่ยวข้องกับเว็บนี้









วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

หลวงพ่อทวด ยุคโบราณ


๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓

วันนี้ขอนำเสนอพระเครื่องหลวงพ่อทวด ซึ่งเข้าใจว่ายังไม่เคยมีผู้ใดนำเสนอมาก่อน  ผมได้บูชามาในระยะเวลาใกล้เคียงกับพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง  องค์พระมีคราบกรุลักษณะเดียวกัน  ในเบื้องต้นจึงเข้าใจว่าน่าจะมาจากกรุเดียวกัน  แต่ก็เก็บไว้จนลืม  หลายวันนี้รื้อจนพบจึงได้นำมาตรวจพิมพ์ทรง คราบกรุ และล้างทำความสะอาด
















จากการค่อย ๆ แซะล้างตามซอกและพื้นผิว ทำให้ทราบว่าดินกรุที่ติดองค์พระแข็งมาก  ต้องใช้น้ำช่วยจึงอ่อนตัวลงบ้าง  แต่หากปล่อยให้ถูกอากาศจนแห้งก็จะแข็งตัวอีก (นี่คือลักษณะของดินกรุแท้ที่ไม่อาจทำปลอมหรือเลียนแบบได้)  สนิมเขียวถูกดันออกมาที่ผิวนอกของดินกรุเช่นเดียวกับพระสิงห์ ๑   ลักษณะดินกรุต่างจากพระสิงห์ ๑ เล็กน้อย  พิมพ์ทรงมีลายเส้นละเอียดอ่อนและซับซ้อนอย่างบรรจงสร้างมาก  การวางมือซ้ายขององค์พระที่หัวเข่าซ้าย แตกต่างจากพระหลวงพ่อทวดที่เราเคยเห็นกันทั่วไป  เมื่อล้างสะอาดแล้วองค์พระเป็นสีทองอร่าม ซึ่งเป็นเนื้อสัมฤทธิ์โชคเช่นเดียวกับพระสิงห์ ๑  พิจารณาตามภาพครับ  (ขอลงภาพเพียงบางส่วน)






แต่จากการตรวจพลังในองค์พระจากผู้ตรวจ ๒ ท่าน ได้ความตรงกันว่า พลังแตกต่างจากพระสิงห์ ๑ ....เป็นคนละกรุกัน  และน่าจะสร้างต่างยุคสมัยกัน  โดยเบื้องต้นทราบเพียงว่าพระหลวงพ่อทวดองค์นี้สร้างมานานกว่า ๒๐๐ ปี

ไม่ทราบว่าจะยังพอหาพระหลวงพ่อทวดกรุนี้ได้อีกมากน้อยเพียงใด  หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะนำมาลงไว้ให้ทราบต่อไป