วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558

พระเชียงแสนสิงห์ ๑ กรุป่ายาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

พระเชียงแสนสิงห์ ๑ กรุป่ายาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
(แก้ไข ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘  เดิมระบุเป็น "กรุวัดป่ายาง" )


วันนี้ขอขั้นรายการสักเล็กน้อย เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลพระที่นำมาลงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ และข้อมูลบางอย่างท่านอาจไม่เคยเห็นหรือไม่สามารถหาความจริงได้จากเซียนพระ  ด้วยการพยายามปกปิดข้อมูลความจริงบางส่วน  แม้แต่ภาพถ่ายก็ไม่มีความคมชัดเพียงพอเพราะไม่ต้องการให้เห็นจุดที่เป็นเคล็ดลับ   นอกจากนี้พระที่ขุดค้นพบถือได้ว่ามีคุณค่าสูง เป็นมรดกในแผ่นดินสยาม


พระเชียงแสนสิงห์ ๑ กรุวัดป่ายาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นี้ถูกขุดพบหลังเทศบาลตำบลแม่สายประมาณ ๓๐๐ เมตร ห่างวัดป่ายางประมาณ ๑๐๐ เมตร   เข้าใจว่าจุดที่ขุดพบเคยเป็นอาณาเขตของวัดมาก่อน   จำนวนที่พบมากกว่าสองหมื่นองค์   มีขนาดบูชาหน้าตัก ๓ นิ้วครึ่ง  และขนาดห้อยคอหน้าตักประมาณ ๗ หุน (เดิมระบุผิดเป็น ๓ หุนครึ่ง)   มีผู้ให้ข้อมูลว่า กรุแตกในช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง กันยายน ๒๕๕๗





องค์พระที่นำภาพมาลงเป็นขนาดหน้าตัก ๗ หุน เลี่ยมขึ้นคอได้   สภาพโดยทั่วไป ปรากฏคราบดินและสนิมเขียวปกคลุมที่ด้านนอกทั้งองค์   ดินมีลักษณะแห้ง แข็ง เกาะติดแน่น   สนิมเขียวบางแห่งอยู่ปะปนกับดินหรือขึ้นปกคลุมดินอีกทีหนึ่ง  บางแห่งส่องเห็นเป็นเม็ดแมงลัก ไข่แมงดา   บางแห่งมีลักษณะเงาสดคล้ายสีหรือวัสดุเหลวสีเขียวเคลือบไว้  แต่ใช้ทินเนอร์ล้างไม่ออก แสดงว่าไม่ใช่สี







ใต้ฐานเว้าลึกเข้าไป แต่ด้านซ้ายขององค์พระจะปิดส่วนหนึ่ง







อีกองค์หนึ่ง เมื่อนำมาล้างแล้วจะพบว่าเนื้อพระมีสีทอง ลึกกว่าสีทองเป็นสีทองแดง น่าจะเป็นการเล่นแร่แปรธาตุของอาจารย์ผู้เรืองวิชาในสมัยโบราณ  ผิวพระเป็นเส้น ๆ เหมือนลายผ้า   พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ ๑  พระพักตร์และพระอุระนูนหนา สังฆาฏิสั้น ขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย
ชั้นของผิวที่ปกคลุม ชั้นแรกเห็นได้ชัดว่าเป็นสนิมเขียว  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสนิมเขียวที่ปกคลุมด้านนอกที่เห็นในองค์ก่อนที่จะทำการล้างนั้น เป็นสนิมเขียวที่ถูกดันออกมาจากด้านใน ผ่านชั้นของรักและชั้นดินที่ปกคลุมองค์พระอีกทีหนึ่ง   บ่งว่าองค์พระถูกบ่มอยู่ในชั้นดินผ่านกาลเวลาอันยาวนาน   และสนิมเขียวยังบ่งว่าเนื้อพระน่าจะเป็นสำริดหรือมีส่วนผสมของทองแดงเป็นสำคัญ

ชั้นต่อมา คือ รักสมุก (สีดำ)  ดินสีทราย  และดินสีอิฐ ตามลำดับ   การที่ดินแบ่งออกเป็นสีทรายและสีอิฐอยู่คนละชั้นต่างกันไม่น่าจะเพราะเป็นดินคนละชนิด   แต่น่าจะเกิดจากธรรมชาติ ความร้อน ความชื้น และระยะเวลาอันยาวนาน ที่ขับดันวัสดุต่างประเภทให้ออกมาอยู่ในลำดับชั้นที่ต่างกัน   เช่นเดียวกับที่สนิมเขียวส่วนหนึ่งถูกดันให้ออกมาปกคลุมด้านนอกสุดขององค์พระ








จากบทวิเคราะห์พอสรุปได้ในเบื้องต้นว่า   พระกรุวัดป่ายาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งแม้ไม่ได้ถูกขุดพบภายในบริเวณวัดในปัจจุบัน แต่ก็อยู่ในบริเวณใกล้วัดป่ายางมากที่สุด  คงพออนุโลมให้เป็นกรุวัดป่ายางไปก่อน   เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ ๑ แท้ซึ่งมีอายุยาวนาน  ในเบื้องต้นคงเพียงคาดการณ์ไว้ก่อนว่าไม่น่าจะน้อยกว่า ๒๐๐ ปี   สิ่งที่จะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปคือ พระกรุนี้มีอายุเท่าใด สร้างสมัยใด และที่สำคัญ มีพลังพุทธคุณในด้านใดและมากน้อยเพียงใด   หากทราบข้อมูลเพิ่มเติมจะนำมาลงไว้เพื่อประโยชน์แก่ชาวสยามต่อไป  


------------------------------------------------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม (๑๑ มกราคม ๒๕๕๘)

จำนวนพระที่มีมากแต่ถูกแบ่งเหมาออกไปหลายทิศหลายทาง   ในพื้นที่เองเริ่มหายากและราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ    คาดว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้คงจะหามาบูชาได้ยากหรือราคาสูงจนเกินกว่าจะหามาแบ่งปันให้แก่ญาติสนิทมิตรสหายหรือมวลสมาชิกที่ติดตามเว็บบล็อคนี้   แม้ข้อมูลขณะนี้ยังไม่ครบถ้วน แต่หากเนิ่นช้าแล้วท่านทั้งหลายคงได้แต่เพียงดูจากรูปและข้อมูลในเว็บบล็อคนี้เท่านั้น   ขณะนี้ผมยังพอจะสืบหามาบูชาได้บ้าง จึงเห็นว่าควรเป็นตัวกลางช่วยจัดหาให้แก่มวลสมาชิกที่ติดตามเว็บบล็อคนี้ที่มีความสนใจใคร่จะบูชา โดยมีเงื่อนไขดังนี้
๑.   ราคาบูชาขณะนี้ (          ๒๕๕๘) ขนาดหน้าตัก ๓ หุนครึ่ง (เกือบ ๑ นิ้ว) องค์ละ     บาท หากมีการเปลี่ยนแปลงราคาบูชาเมื่อใดจะแก้ไขราคาให้ทราบที่นี่     
๒.   ค่าจัดส่ง (ค่ากล่องหรือซองกันกระแทก + ค่าไปรษณีย์)     บาท (ไม่เกิน    องค์)
๓.   ต้องการบูชาจำนวนกี่องค์ติดต่อแจ้งทางอีเมล์ daddychang@gmail.com   เท่านั้น   พร้อมแจ้งชื่อ – ชื่อสกุล จริง และที่อยู่ที่จัดส่ง (ตรวจสอบให้ถูกต้องด้วย)
๔.   หากจัดหาพระให้ได้ ผมจะแจ้งยืนยันกลับทางอีเมล์พร้อมเลขบัญชีธนาคาร   ขอให้โอนเงินพร้อมจุดทศนิยม เช่น        บาท            บาท เป็นต้น  แล้วแจ้งยืนยันการโอนเงินทางอีเมล์  
๕.   เมื่อได้รับแจ้งยืนยันการโอนเงินและตรวจสอบถูกต้องแล้ว  จะดำเนินการส่งพระให้ตามชื่อที่อยู่ที่แจ้งมาทาง EMS เพื่อตรวจสอบได้
๖.   พระเชียงแสนสิงห์ ๑ กรุวัดป่ายาง เท่าที่หาบูชาได้มา ส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพเดิม คือ มีคราบดิน คราบสนิมเขียว ติดแน่น และมีฝุ่น ทราย   หากประสงค์จะล้างขอให้นำไปล้างด้วยตนเองเพื่อเป็นประสบการณ์ตรง   ผมเพียงตรวจสอบให้ว่าองค์พระไม่ชำรุดเท่านั้น


๗.   เมื่อได้รับพระแล้ว กรุณาแจ้งให้ทราบด้วยเพื่อตรวจสอบว่าไม่ตกหล่นหรือสูญหาย

ของดการบูชาไว้ก่อนครับ (๒๖ มกราคม ๒๕๕๘)

-----------------------------------------------------------------------------------------------------


เพิ่มเติมภาพ (๑๒ มกราคม ๒๕๕๘)


องค์แรกด้านบน เมื่อนำมาล้างจนเห็นเนื้อพระมากขึ้นแล้ว
แต่ก็ยังไม่สามารถล้างคราบกรุและรักออกได้หมด  ติดแน่นมาก ๆ
คงต้องใช้หลายวิธีการผสมผสานกัน









----------------------------------------------------------------------------------------------------



ข้อมูลเพิ่มเติม (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)

หลายท่านสนใจไต่ถามถึงพระเชียงแสนสิงห์ ๑ กรุวัดป่ายาง ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วครึ่ง   วันนี้พอมีเวลาจึงนำภาพมาลงให้ชม










พุทธลักษณะได้รับอิทธิพลของศิลปะทวารวดียุคที่สองอยู่มาก กล่าวคือ   พระขนง (คิ้ว) ต่อกันเป็นรูปปีกกา   พระเกตุมาลา (พระรัศมีซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า) เป็นต่อมนูนใหญ่และสั้น   พระพักตร์ (ใบหน้า) แบนกว้าง   พระเนตร (ดวงตา) โปน   พระหนุ (คาง) ป้าน   พระนลาฎ (หน้าผาก) แคบ   พระนาสิก (จมูก) ป้านใหญ่   พระโอษฐ์ (ปาก) หนา   พระหัตถ์และพระบาทใหญ่








นอกจากขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วครึ่ง   ยังพบขนาดหน้าตัก ๔ นิ้วครึ่ง ตามภาพที่ลงให้ชมด้านล่าง   และทราบมาว่ามีขนาดอื่นด้วย เช่น ๙ นิ้ว   แต่ยังไม่เคยเห็นครับ





















---------------------------------------------------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

การลงพื้นที่จริง ได้สำรวจ ได้ค้นหา เกิดประสบการณ์ตรง และตอบข้อสงสัยได้หลายประการ   ข้อมูลบางส่วนได้จากชาวบ้าน จากคนที่เห็นการขุดพบกรุพระ และบางส่วนได้จากจิตสัมผัส (ไม่ใช่จิตสัมผัสของผมเอง ขอไม่เปิดเผย)    ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากการบอกกล่าวซักถามและจากจิตสัมผัสสอดคล้องตรงกัน

ประการแรก ที่เข้าใจว่าสถานที่ที่ค้นพบอยู่หลังเทศบาลตำบลแม่สายประมาณ ๓๐๐ เมตร และห่างวัดป่ายางประมาณ ๑๐๐ เมตร นั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน (กรุณาดูจากแผนที่)   






จากถนนพหลโยธิน เลี้ยวเข้าถนนป่ายาง ซึ่งอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอแม่สาย ตรงเข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร   สถานที่ที่ขุดค้นพบอยู่ด้านขวามือ อยู่ระหว่าง ป่ายางซอย ๑๐ และ ป่ายางซอย ๑๑   ปัจจุบันเป็นอาคารชั้นเดียว ๓ คูหา เป็นที่ทำการของ ศูนย์ อ.ป.พ.ร. ช.ร.บ.  กลุ่มพัฒนาสตรี  และอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน   อยู่ก่อนถึงวัดป่ายางเกือบ ๑ กิโลเมตร พิกัด GPS โดยประมาณ N 20 25.502  E 099 53.313   แสดงข้อบ่งชี้ประการแรกว่า พระที่ขุดค้นพบไม่น่าจะใช่ “กรุวัดป่ายาง” เสียแล้ว   เพราะด้วยระยะห่างขนาดนี้   อาณาบริเวณวัดแต่เดิมต่อให้กว้างขวางกว่าปัจจุบันก็ไม่น่าจะครอบคลุมถึง    (ผมทราบข้อมูลในทางจิตอยู่ก่อนแล้วว่า พระที่ขุดค้นพบ เป็นพระอะไร และสร้างเมื่อใด ?   แล้วจะชี้แจงขยายความให้ทราบต่อไป)

เดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ฝังศพมาช้านาน   เมื่อทำเป็นตลาดก็ไม่มีคนเข้าไปค้าขาย   ต่อมาชุมชนป่ายางจึงสร้างอาคารเป็นที่ทำการสาธารณสุขมูลฐาน   ตามภาพที่เห็นคือ อาคารสีขาวเส้นขอบสีส้ม และอาคารสีโอโรส หลังคาจั่ว




นี่เป็นภาพจาก Google ซึ่งเป็นภาพเก่า   ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ๒๕๕๗ ชุมชนป่ายางดำเนินการรื้อถอนอาคารเดิมเพื่อสร้างอาคารหลังใหม่เป็นอาคารชั้นเดียว ๓ คูหา เป็นที่ทำการของ ศูนย์ อ.ป.พ.ร. ช.ร.บ.  กลุ่มพัฒนาสตรี  และอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน ตามที่กล่าวถึงข้างต้น (ตามภาพด้านล่าง)


เมื่อคนงานพม่า ๒ คน ช่วยกันขุดดินลึกลงไปจึงพบกรุพระ   โดยพระถูกบรรจุอยู่ในไหหลายใบ   แต่ละไหมีพระสิงห์ ๑ ขนาดหน้าตัก ๗ หุน ประมาณ ๕,๐๐๐ องค์   และประมาณว่าคนงานพม่าแอบลักลอบนำเอาไป ๙ ไห  ที่เหลืออยู่พบเพิ่มเติมอีก ๖ ไห    ผู้ใหญ่บ้านให้ปิดเงียบ เกรงว่าชาวบ้านจะพากันไปขุดจนหมด   ทำให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกลับไม่ทราบเรื่อง บางคนยังเชื่อว่าเป็นเรื่องกุขึ้นมาเพื่อขายพระ   แต่เรื่องนี้กลับเป็นข่าวพูดปากต่อปากดังออกไปวงนอก   แม้กระทั่งชาวต่างชาติยังเข้ามากว้านซื้อ ทั้งมาเลเซียและพม่า   โดยเฉพาะพม่าให้คนมาติดต่อหาทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่   มีเท่าไหร่เอาหมด และนำออกไปมากแล้ว !!!   ส่วนหนึ่งนำไปปล่อยต่อในราคาสูง   

พื้นที่บริเวณด้านหลัง เป็นที่สาธารณะของชุมชนป่ายาง   มีอาคารที่ทำการของหน่วยงาน เช่น อาคารศูนย์สุขภาวะชุมชนประจำอำเภอแม่สาย  ศูนย์พุทธสมาคม  ศูนย์ลูกเสือป่ายาง หมู่ที่ ๘  สถานพยาบาลแพทย์แผนไทย เป็นต้น

สำหรับคนงานพม่าที่ลักลอบนำพระออกไปไม่ได้นำกลับข้ามไปฝั่งพม่า (คงจะเป็นการยาก)   แต่ได้เก็บไว้แล้วรอเวลานำมาปล่อยขาย   ส่วนหัวหน้าคนงานหรือผู้ที่ดำเนินการขุด (จำชื่อไม่ได้) คนหนึ่งได้เสียชีวิตภายหลังมีการขุดค้นพบได้ ๑๐ วัน !!!
พระสิงห์ ๑ ขนาดหนักตัก ๗ หุน ส่วนใหญ่เป็นเนื้อ สำริด หรือ สัมฤทธิ์   สีคล้ายทองเหลือง   ทองเหลืองมิใช่แร่ที่มีโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากการประสมระหว่างทองแดงและสังกะสีเป็นส่วนประกอบหลัก   โดยมีสังกะสีระหว่างร้อยละ ๕ ถึง ๔๕   ส่วนสำริดเกิดจากการประสมระหว่างทองแดงและดีบุกเป็นส่วนประกอบหลัก   และบางครั้งก็มีธาตุอื่น เช่น ฟอสฟอรัส แมงกานีส อะลูมิเนียม หรือซิลิกอน   ที่กล่าวว่าเป็นสำริดเนื่องจากเนื้อพระแข็งกว่าทองเหลืองโดยทั่วไปมาก   ซึ่งแสดงว่าองค์ประกอบคงมิใช่มีเพียงทองแดงและสังกะสี   แต่มีธาตุอื่นประสมอยู่ด้วย   หรืออาจจะเรียกว่า สำริดทองเหลือง   ที่นี้เมื่อกล่าวถึงส่วนใหญ่แสดงว่ามีส่วนน้อยที่เป็นเนื้ออื่น   ...ใช่ครับ   ทราบจากหลายปากว่า มีเนื้อทองคำ ด้วย   และข้อมูลทางจิตก็ยืนยันเช่นนั้น   และเป็นเรื่องแปลกที่มีหญิงต่างชาติเข้ามาถามหาพระกรุป่ายางนี้โดยเน้นหาแต่องค์ที่มีสนิมสีแดง   เธอพูดว่าคนมาเลเซียให้มาหา...   คนที่ให้มาหาต้องมีความรู้ในเรื่องพระโลหะพอควรว่า สนิมทองคำนั้นเป็นสีแดง – น้ำตาล !!!

นอกจากพระสิงห์ ๑ แล้ว ยังพบพิมพ์พระอื่น ๆ เช่น พระเชียงแสนซาวแปด พระเชียงแสนปรกโพธิ์ เหรียญ ดาบยาว

พระเชียงแสนซาวแปดและพระเชียงแสนปรกโพธิ์ มีลักษณะคล้ายภาพจากหนังสือนี้

ยังมีข้อมูลสำคัญหลายอย่างทั้งที่เปิดเผยได้และเปิดเผยไม่ได้   ไว้มีเวลาจะนำส่วนที่เปิดเผยได้มาเล่าให้ฟังต่อ   ที่สำคัญขณะนี้ ..... ท่านใดที่มีใจรักสะสมหรือบูชา พระเครื่อง พระบูชา ด้วยจิตศรัทธาในพุทธศาสนา แนะนำอย่างที่สุด ให้หามาบูชา ก่อนที่จะหาได้ยากยิ่งหรือราคาสูงจนเกินเอื้อม   จะหาได้จากที่ใดก็สุดแล้วแต่   บอกได้เท่านี้ก่อน   ..... แล้วแต่บุญวาสนา

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม (๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)

พระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว ที่ขุดค้นพบมีทั้งหมด ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์ฐานเตี้ย พิมพ์ฐานบัว และพิมพ์ฐานสามขา หรืออาจจะเรียกว่า พิมพ์ฐานเตี้ย พิมพ์ฐานกลาง และพิมพ์ฐานสูง ก็ได้   เมื่อวัดขนาดหนักตักจริงแล้ว สำหรับพิมพ์ฐานเตี้ย วัดได้ ๘ นิ้วครึ่ง (เดิมระบุผิดเป็น ๘ นิ้ว ๓ หุน)   พิมพ์ฐานบัว วัดได้ ๘ นิ้วครึ่ง   และพิมพ์ฐานสามขา วัดได้ ๘ นิ้ว
ครึ่ง ...อีกแล้ว  ไม่เต็ม ๙ นิ้ว   ..... ชมภาพกันก่อนครับ

พระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง หน้าตัก ๘ นิ้วครึ่ง พิมพ์ฐานเตี้ย
















พระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง หน้าตัก ๘ นิ้วครึ่ง พิมพ์ฐานบัว
















พระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง หน้าตัก ๘ นิ้ว พิมพ์ฐานสามขา





















เหตุใดขนาดหน้าตักพระจึงไม่เต็ม ๑ นิ้ว ๔ นิ้ว ๕ นิ้ว ๙ นิ้ว !!!   ปัญหานี้ขบไม่ยาก   ...ในสมัยโบราณบรรพบุรุษของเรายังไม่มีเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับการวัดระยะทาง เวลา พื้นที่ และปริมาตร   บางครั้งเกิดปัญหาการสื่อความหมายไม่ตรงกัน   เมื่อมีการติดต่อไปมาระหว่างชุมชน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทำให้ต้องมีหน่วยการวัดและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดที่ชัดเจนเพื่อสื่อความหมายได้ตรงกันมากขึ้น
               
การวัดความยาวมีวิวัฒนาการเป็นลำดับคร่าว ๆ โดยในระยะแรก ๆ มีการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นเกณฑ์อ้างอิง เช่น  ๑ นิ้ว , ๑ คืบ , ๑ ศอก , ๑ วา   แต่ก็ยังไม่สามารถบอกความชัดเจนได้อยู่ดี เพราะ คืบ , ศอก , วา ของแต่ละชุมชนที่ใช้ในการวัดยาวไม่เท่ากัน   ต่อมาจึงได้พัฒนาหน่วยการวัดให้เป็นมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กัน คือ
- ระบบอังกฤษ  จะมีหน่วยวัดความยาวเป็น นิ้ว , ฟุต , หลา  และ ไมล์ เป็นต้น
- ระบบเมตริก  ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ กำหนดหน่วยความยาวเป็น เซนติเมตร , เมตร และ กิโลเมตร เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดโดยใช้หน่วยการวัดของระบบเมตริก
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.kr.ac.th/ebook2/apichat/02.html

จะเห็นได้ว่า มาตราวัดความยาวที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันเพิ่งกำหนดเป็นมาตรฐานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ นี่เอง   ในอดีตกาลไม่ได้วัดขนาดหน้าตักพระเป็นนิ้วตามมาตราวัดมาตรฐานอย่างที่เราใช้ในปัจจุบัน   การวัดขนาดหน้าตักพระเป็นนิ้วตามมาตราวัดมาตรฐานดังกล่าว ว่าขนาดใดจึงจะเป็นขนาดที่เหมาะสมและเป็นมงคล คงวัดได้กับเฉพาะพระที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเริ่มรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาเท่านั้น  

จากขนาดหน้าตักพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ที่วัดได้ ๗ หุน  ๓ นิ้วครึ่ง  ๔ นิ้วครึ่ง  ๘ นิ้ว  และ ๘ นิ้วครึ่ง  จะเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่มีความตั้งใจกำหนด   มิใช่ทำขึ้นตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้   แสดงให้เห็นว่าพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ไม่ได้ใช้มาตราวัดเป็นนิ้วตามมาตรฐานปัจจุบัน   แต่ใช้หน่วยวัดเป็นของตนเอง โดยอาจใช้ความยาวข้อนิ้วมือของช่าง หรืออาจมีมาตราวัดเป็นของตนเองในยุคนั้น

และนี่เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระกรุป่ายางนี้สร้างมาก่อนยุครัตนโกสินทร์ !!!     แล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ

------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม (๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)

การลงพื้นที่สืบหาข้อมูลนอกจากจะได้สัมผัสกับชาวบ้านในพื้นที่ ผู้เห็นเหตุการณ์การขุดค้นพบพระกรุป่ายางแล้ว   ยังได้สอบเปรียบเทียบกับข้อมูลกับที่ได้รับจากทางจิตอีกด้วย   ผลปรากฏว่าข้อมูลตรงกันดั่งเห็นด้วยตา   ทั้งเรื่องตำแหน่งที่ขุดพบ ลักษณะของหลุมที่ขุด และลักษณะพระที่พบ   หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล นั่งเทียน หรือเพ้อเจ้อ   หรืออาจคิดว่าเป็นการกุเรื่องขึ้นมาเพื่อขายพระ   ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่ผมจะเปิดเผยข้อมูลสำคัญ จึงได้งดการสืบหาบูชาพระให้แก่สมาชิกที่ติดตามบล็อคนี้ไปก่อนแล้วตั้งแต่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๘   บางท่านอาจเพิ่งเปิดเข้ามาเห็นข้อมูลหรือบางท่านเห็นอยู่แล้วแต่ไม่สนใจ แล้วมาสนใจภายหลัง ก็คงต้องติดตามหาบูชากันเอาเอง   หรือถ้าท่านใดต้องการให้ผมหาบูชาให้อีกคงต้องพูดคุยไต่ถามกันเป็นราย ๆ ไป   ไม่ได้เปิดรับที่หน้าเว็บบล็อคนี้อีก     เรื่องทางจิตเป็นเรื่องที่รับรู้ได้เฉพาะตน   จะไปบอกให้คนอื่นรับรู้รับสัมผัสด้วยไม่ได้   หากผู้ใดไม่อาจรับฟังได้หรือคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล  ก็ขอให้คิดซะว่าผมกำลังเล่านิทานให้ฟังแล้วกัน

“พระกรุป่ายาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๑๒๖๗  หรือเป็นเวลากว่า ๑๒๙๐ ปี ล่วงมาแล้ว    พระพักตร์ขององค์พระสิงห์ ๑ ขนาดหน้าตัก ๗ หุน เป็นพระพักตร์ของ  พระเจ้าสุทโธทนะ  พระบิดาของพระพุทธเจ้าสมณโคดม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)   ท่านชอบนั่งบำเพ็ญในอิริยาบทดังที่เห็นนี้หรือที่เรียกว่า ปางมารวิชัย   ผู้ที่สร้างเป็นเชื้อพระวงศ์ในรุ่นหลัง ๆ ของท่าน   สถานที่ที่ค้นพบนี้เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โบราณ มีอุโมงค์และป่าเขา มีอาณาบริเวณเป็นรูปวงรี   พลังพุทธคุณที่บรรจุในองค์พระมีอยู่อย่างสูงล้ำเกินกว่าที่จะประเมินค่า   หากนั่งสมาธิโดยหงายฝ่ามือ แล้ววางองค์พระไว้กลางฝ่ามือ จะช่วยให้เข้าสู่ฌาณได้รวดเร็ว   พระบางองค์ถูกบรรจุพระธาตุของพระองค์ไว้   บางองค์บรรจุแผ่นลักษณะเหมือนตาลปัตร   ทุกองค์จึงมีพลังศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอย่างสูงยิ่ง”

ที่ว่าองค์พระมีการบรรจุพระธาตุไว้นั้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะพระสิงห์ ๑ ขนาดหน้าตัก ๗ หุนเท่านั้น   เพราะพบหลักฐานโดยบังเอิญว่ามีพระธาตุบรรจุอยู่ภายในเศียรพระสิงห์ ๑ ขนาดหน้าตัก ๘ นิ้วครึ่ง พิมพ์ฐานเตี้ย ด้วย !!!



รูที่เศียรพระ ซึ่งพระธาตุหลุดออกมาจำนวนหนึ่ง  



พระธาตุพระเจ้าสุทโธทนะ



เมื่อสืบค้นเปรียบเทียบข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้วพบว่า   พื้นที่บริเวณที่ค้นพบพระกรุนี้เคยถูกปกครองด้วยราชวงศ์ต่าง ๆ มาหลายยุคหลายสมัย .....     หลังจาก นครโยนกนาคพันธุ์ ถูกถล่มด้วยแผ่นดินไหวล่มสลายลง เมื่อปี พ.ศ. ๑๐๘๘ ก็สิ้น ราชวงศ์สิงหนวัติ    จากนั้นอีกหลายปี บรรดาชุมชนบริเวณรอบ ๆ ที่หลงเหลืออยู่จึงต้องหาผู้นำใหม่   ปรากฏว่าได้ "ขุนลัง" เป็นผู้นำ ก่อนจะย้ายศูนย์กลางการปกครองมาตั้งบนเวียงริมฝั่งแม่น้ำโขง   ปกครองด้วยการประชุมหารือกันในหมู่หัวหน้าชุมชน   ทำให้เวียงแห่งใหม่นี้มีชื่อเรียกว่า "เวียงปรึกษา"   วิธีปกครองแบบปรึกษาซึ่งนักวิชาการบางท่านก็จะคิดว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยครั้งแรกในเมืองไทยนี้ สามารถใช้มาจนถึง พ.ศ. ๑๑๘๑ เป็นเวลาถึง ๙๓ ปี ก่อนที่ พระยากาฬวรรณดิศราช หรือ พญาอนิรุทธ กษัตริย์แห่งทวารวดีจะเสด็จขึ้นมาสนับสนุน "พญาลวจักรราช" (ผู้มีเชื้อสายของปู่เจ้าลาวจก หรือผู้ที่ขายดอยตุงให้นครโยนกนาคพันธุ์ สร้างพระธาตุดอยตุง) ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่แทนราชวงศ์สิงหนวัติ   พระองค์ทรงตั้งชื่อราชวงศ์ใหม่ของพระองค์ว่า ราชวงศ์ลวจักรราช หรือ ราชวงศ์ลาว
หลังจากขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงเปลี่ยนนามจากเวียงปรึกษาเป็น เมืองหิรัญนคร โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณ แม่น้ำสาย และดอยตุง ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย   
พระยาลวจักรราช นั้น คาดว่าเดิมมีอำนาจอยู่ใน เมืองเชียงลาว บริเวณดอยตุง และ แม่น้ำสาย ต่อมาจึงได้ขยายมาสู่เมืองเงินยาง หรือ เงินยัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง   พระองค์ มีราชบุตร ๓ พระองค์ ได้แก่ ลาวครอบ ลาวช้าง และ ลาวเก๊าแก้วมาเมือง โดยให้บุตรของพระองค์ครองเมืองดังนี้
ลาวครอบ ครอง เมืองเชียงของ
ลาวช้าง ครอง เมืองยอง
ลาวเก๊าแก้วมาเมือง ครอง เมืองเชียงลาว สืบต่อมา

เมืองหิรัญนคร (โดยประมาณเพียงให้เห็นภาพ)

ราชวงศ์นี้มีกษัตริย์สืบต่อมาถึง ๒๔ องค์ ในระหว่างนั้นหลายองค์ได้มีการส่งราชบุตรของตนออกไปครองเมืองต่าง ๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ ล้านช้าง น่าน ฯลฯ   ดังนั้น เมืองทั้งหลายเหล่านี้จึงเป็นเครือญาติกัน
ต่อมาในสมัยพระเจ้าลาวเคียง พระองค์ได้สร้าง เมืองเงินยาง หรือ เมืองเชียงแสน (คือเวียงเชียงแสนในปัจจุบัน) และย้ายเข้าไปปกครองที่นั่น   มีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องมาอีกถึง ๖๒๑ ปี รวม ๒๔ รัชกาล
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อ พญาลาวเมง พระบิดาของ พญามังราย สร้างเมืองเชียงราย   และพญามังรายขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๒๕ ของหิรัญนครเงินยางเชียงแสนในปี พ.ศ. ๑๘๐๕   พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริจะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น   เมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราช พระองค์ก็ได้โปรดให้เมืองเชียงรายเป็นราชธานีแห่งใหม่   เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ลวจักรราช แห่ง หิรัญนครเงินยาง เริ่มต้น ราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

รายพระนามกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงแสน
ยุคเมืองหิรัญนคร
1.                  พญาลวจักราช (ลาวจก)
2.                  พญาลาวเก๊าแก้วมาเมือง
3.                  พญาลาวเส้า (ลาวเสา)
4.                  พญาลาวตัง (ลาวพัง)
5.                  พญาลาวกลม (ลาวหลวง)
6.                  พญาลาวเหลว
7.                  พญาลาวกับ
8.                  พญาลาวคิม (ลาวกิน)

ยุคเมืองเงินยาง
1.                  พญาลาวเคียง
2.                  พญาลาวคิว
3.                  พญาลาวเทิง (ลาวติง)
4.                  พญาลาวทึง (ลาวเติง)
5.                  พญาลาวคน
6.                  พญาลาวสม
7.                  พญาลาวกวก (ลาวพวก)
8.                  พญาลาวกิว (ลาวกวิน)
9.                  พญาลาวจง
10.             พญาจอมผาเรือง
11.             พญาลาวเจิง (ลาวเจื๋อง)
12.             พญาลาวเงินเรือง
13.             พญาลาวซิน (ลาวชื่น)
14.             พญาลาวมิง
15.             พญาลาวเมือง (ลาวเมิง)
16.             พญาลาวเมง (พระบิดาพญามังราย แห่งล้านนา)

ขอบคุณข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/

จะเห็นได้ว่า   เมืองหิรัญนคร เดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่ เมืองเชียงลาว หรือคือบริเวณ แม่น้ำสาย และดอยตุง ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย    มี พญาลวจักรราช เป็นเจ้าครองนครเริ่มแต่ประมาณปีพุทธศักราช ๑๑๘๑    มีกษัตริย์ปกครองเมืองเชียงลาวสืบต่อมา คือ พญาลาวเก๊าแก้วมาเมือง และ พญาลาวเส้า (ลาวเสา) ตามลำดับ   ดังนั้นพระกรุป่ายางนี้คงอยู่ในอาณาบริเวณของเมืองเชียงลาวในอดีต   และในปีพุทธศักราช ๑๒๖๗ ซึ่งมีการสร้างพระขึ้นมา น่าจะอยู่ในรัชสมัยของ พญาลาวเก๊าแก้วมาเมือง หรือไม่ก็ พญาลาวเส้า (ลาวเสา)  หรือหากปีพุทธศักราชคลาดเคลื่อน อาจอยู่ในรัชสมัยของพญาลวจักรราช และเป็นการสร้างพระเพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์เริ่มต้นราชวงศ์ใหม่ก็เป็นได้     นอกจากนี้เป็นที่สังเกตได้ว่า หลังจากสิ้นราชวงศ์สิงหนวัติแล้ว   การขึ้นครองราชย์ของพญาลวจักรราช เริ่มต้นราชวงศ์ใหม่นั้น มี พระยากาฬวรรณดิศราช หรือ พญาอนิรุทธ กษัตริย์แห่งทวารวดีเสด็จขึ้นมาสนับสนุนด้วย   แสดงว่าเมืองหิรัญนครน่าจะอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งอาณาจักรทวารวดีไม่มากก็น้อย   นี่จึงเป็นเค้ามูลสำคัญว่า เหตุใดพระสิงห์ ๑ ขนาดหน้าตัก ๓ นิ้วครึ่ง จึงมีอิทธิพลของศิลปะทวารวดีผสมผสาน

ทวารวดี เป็นคำภาษาสันสกฤต เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยนายแซมมวล บีล (อังกฤษ: Samuel Beel) ได้แปลงมาจากคำว่า โถโลโปตี (อังกฤษ: Tolopoti) ที่มีอ้างอยู่ในบันทึกของภิกษุจีนจิ้นฮง (อังกฤษ: Hiuantsang) ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ กล่าวว่า   โถโลโปตี เป็นชื่อของอาณาจักรหนึ่งตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตร (พม่า) และอาณาจักรอิศานปุระ (เขมร)   เขาสรุปว่าอาณาจักรนี้เดิมตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทย (สยาม) ปัจจุบัน และยังสันนิษฐานคำอื่น ๆ ที่มีสำเนียงคล้ายกันเช่น จวนโลโปติ (อังกฤษ: Tchouanlopoti) หรือ เชอโฮโปติ (อังกฤษ: Chohopoti) ว่าคือ อาณาจักรทวารวดี ด้วย
จดหมายเหตุของภิกษุจีนชื่อ เหี้ยนจั๋ง หรือ พระถังซัมจั๋ง (Hieun Tsing) ซึ่งเดินทางจากเมืองจีนไปประเทศอินเดียทางบก ราวพุทธศักราช ๑๑๗๒  ๑๑๘๘  และพระภิกษุจีนชื่อ อี้จิง (I-Sing)  ซึ่งเดินทางไปอินเดียทางทะเลในช่วงเวลาต่อมานั้น   ได้เรียกอาณาจักรใหญ่แห่งนี้ตามสำเนียงชนพื้นเมืองในอินเดียว่า โลโปตี้”  หรือ “จุยล่อพัดดี้” (ทวารวดี)     พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้กล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ไว้ว่า สามารถเดินเรือจากเมืองกวางตุ้งถึงอาณาจักรทวารวดีได้ในเวลา ๕ เดือน
ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (พุทธศักราช ๒๔๖๘) และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พุทธศักราช ๒๔๖๙) เป็นกลุ่มบุคคลแรกที่กำหนดเรียกชื่อดินแดนที่เมืองโบราณและโบราณวัตถุสถานต่าง ๆ ที่พบมากมาย โดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งงานศิลปกรรมที่พบนั้นว่า คือ ดินแดนแห่งอาณาจักรทวารวดี และศิลปะแบบทวารวดี   โดยใช้เหตุผลของตำแหน่งที่ตั้งอาณาจักรตามบันทึกจีนกับอายุของบันทึก และอายุของงานศิลปกรรมที่ตรงกัน    อาณาจักรทวารวดีจึงกลายเป็นอาณาจักรแรกในดินแดนไทย กำหนดอายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖

ขอบคุณข้อมูลจาก

ในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับการสร้างพระของเมืองหิรัญนครนี้   ในเมืองอื่นก็มีการสร้างพระที่สำคัญด้วยเช่นกัน กล่าวคือ   พระนางจามเทวี (ประมาณพุทธศักราช ๑๑๗๖ - ๑๒๗๔) ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย หรือเมืองลำพูนในปัจจุบัน ซึ่งกล่าวกันว่าท่านเป็นผู้สร้าง พระรอดลำพูน   ท่านเป็นพระราชธิดาแห่งละโว้ซึ่งขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย   โดยมีตำนานกล่าวไว้ว่า   การเดินทางจากละโว้ไปสู่เมืองลำพูนนั้น พระนางได้เชิญพระเถระ ๕๐๐ รูป หมู่ปะขาวทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน บัณฑิต ๕๐๐ คน หมู่ช่างแกะสลัก ๕๐๐ คน ช่างแก้วแหวน ๕๐๐ คน พ่อเลี้ยง ๕๐๐ คน แม่เลี้ยง ๕๐๐ คน หมู่หมอโหรา ๕๐๐ คน หมอยา ๕๐๐คน ช่างเงิน ๕๐๐ คน ช่างทอง ๕๐๐ คน ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน ช่างเขียน ๕๐๐ คน หมู่ช่างทั้งหลายต่าง ๆ อีก ๕๐๐ คน และช่างโยธา ๕๐๐ คน  ให้ร่วมเดินทางกับพระนางเพื่อไปสร้างบ้านแปงเมืองแห่งใหม่ให้มั่นคงยิ่งขึ้น   โดยเดินทางด้วยการล่องเรือไปตามแม่น้ำปิง กินระยะเวลานาน ๗ เดือน   พร้อมกันนี้พระนางยังได้เชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย ๒ องค์ คือ
) พระแก้วขาว ซึ่งว่ากันว่าเป็นองค์เดียวกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน
) พระรอดหลวง ซึ่งประดิษฐานที่วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน
ขอบคุณข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/

ส่วนทางภาคใต้ก็มีประวัติอาณาจักรศรีวิชัย และตำนานพระแก้วมรกตของไทย ซึ่งกล่าวถึงการสร้าง “พระแก้วมรกต” ขึ้นในปลายรัชกาลพระอินทร์ เมื่อประมาณ พุทธศักราช ๑๒๖๐ - ๑๒๗๐ ที่นครโพธิ์ไชยา
ขอบคุณข้อมูลจาก

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งระบุว่า   ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอยู่ในยุคของ อาณาจักรโยนกนาคนคร หรือ โยนกนาคพันธุ์ หรือ โยนกนาคพันธุ์บุรีศรีช้างแสน  ไม่ใช่ยุคของเมืองหิรัญนคร  ก็ฟังไว้เป็นข้อมูล  เช่น

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า ยุคที่มีการสร้างพระกรุป่ายางนี้เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ฝังรากลึกลงในดินแดนสุวรรณภูมิอย่างมั่นคง   หากพิจารณาพุทธศิลป์และความปราณีตในการสร้างพระสิงห์ ๑ กรุป่ายางนี้แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า   ช่าง ผู้สร้างมีความบรรจงในการรังสรรค์พิมพ์พระได้อย่างสง่างาม อ่อนช้อย นุ่มนวล ละเอียดละออ  แลดูสงบ แต่น่าเคารพเกรงขามอยู่ในที   ระดับฝีมือเช่นนี้อย่าว่าแต่ในปัจจุบันเลย เมื่อพันกว่าปีก่อนจะหาช่างชาวบ้านที่ไหนมาบรรจงสร้างได้เช่นนี้เล่า ถ้าไม่ใช่ช่างหลวง   พระที่มีความงดงามอย่างที่สุดในพุทธศิลป์  สูงล้ำด้วยพลังแห่งพุทธคุณ  ก่อกำเนิดในดินแดนแห่งธรรม  ประวัติและเจตจำนงการสร้างอันสูงส่ง   จึงมีความล้ำค่าอย่างที่สุดในแดนสยาม  



พระสิงห์ ๑ หิรัญนครเงินยาง ปางพระเจ้าสุทโธทนะ

----------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม (๒ มีนาคม ๒๕๕๘)

มีผู้คัดลอกข้อมูลบางส่วนจากเว็บบล็อคนี้ไปลงประกาศขายพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง   ทั้งยังมีลิงค์มาที่เว็บบล็อคนี้ให้ดูเหมือนว่า ผมเป็นผู้ลงประกาศขาย  เช่น
ใช้ชื่อว่า nantanit
ใช้ชื่อว่า spatuk28

น่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน เพราะเบอร์โทรศัพท์เดียวกัน และรูปที่ใช้เหมือนกัน   แต่รูปอาจจะคัดลอกมาจากเว็บของคนอื่น   จึงแจ้งมาเพื่อให้ระมัดระวังกันด้วยครับ


--------------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม (๔ มีนาคม ๒๕๕๘)


หลังจากลงว่ามีผู้คัดลอกข้อมูลบางส่วนจากเว็บบล็อคนี้ไปลงประกาศขายพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง เพียงวันเดียว   ผู้ประกาศขายพระก็ลบข้อความประกาศทิ้งไปแล้ว   แต่ยังมีวิธีติดตามหาข้อมูลได้อยู่ จึงนำภาพเว็บดังกล่าวมาลงไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง




ผู้ประกาศขายได้ลบประกาศไปแล้ว   ถือได้ว่าแสดงความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง   จึงขอปิดเบอร์โทรศัพท์และไลน์ไอดีไว้   และหวังว่าผู้ที่จะประกาศขายพระต่อไปจะได้ระมัดระวังกันครับ

--------------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม (๓ เมษายน ๒๕๕๘)


เรื่องเนื้อพระได้รับความสนใจจากหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะเนื้อทองคำ   ก็ขอยืนยัน ณ ขณะนี้ว่า ยังไม่พบเนื้อทองคำนะครับ   เหตุที่มีชาวต่างชาติแสวงหาพระเนื้อทองคำนั้นเข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะมีการนำพระไปล้างแล้วพบว่ามีเนื้อเหมือนทองคำ  
ตามที่ได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า เนื้อพระเป็น  สำริด หรือ สัมฤทธิ์   สีคล้ายทองเหลือง   ได้อธิบายไปบางส่วนเกี่ยวกับทองเหลือง   วันนี้จะขอนำข้อเขียนของตรียัมปวายซึ่งอธิบายถึง สำริด หรือ สัมฤทธิ์   ไว้ดังนี้ ...

          คำว่าสัมฤทธิ์ตามพจนานุกรม หมายความว่า น. ความสำเร็จ ถ้าหมายถึงโลหะก็จะหมายถึงโลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยทองแดงกับดีบุก 

          ทองสัมฤทธิ์หรือสัมฤทธิ์ ก็เรียก เขียนว่า สำริด ก็มี โลหะผสมที่นำมาสร้างพระพุทธรูปหรือพระรูปหล่อลอยองค์ โดยมากใช้โลหะธาตุทองแดงผสมกับดีบุกและโลหะธาตุอื่นๆ แล้วแต่จะผสมกันไปตามสูตรของใครของมัน และในปัจจุบันเรียกกันว่า "เนื้อสัมฤทธิ์" แต่ถ้าจะพูดถึงโลหะสัมฤทธิ์ตามสูตรโบราณแท้ๆ นั้นเขามีหลักมีเกณฑ์ในการผสมโลหะ และเพื่อให้เป็นสิริมงคล จึงได้ใช้คำเรียกโลหะผสมชนิดนี้ว่า "สัมฤทธิ์" ซึ่งหมายถึงการสัมฤทธิ์ผล หรือสัมฤทธิ์ประโยชน์ตามความปรารถนา ทั้งนี้หมายความถึง ความสำเร็จนับแต่เริ่มต้นในการผสมโลหะตามสูตร การลงอักขระเลขยันต์ให้สำเร็จเป็นอิทธิวัตถุ บังเกิดเป็นมงคลและความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และในประการสุดท้ายเมื่อนำอิทธิวัตถุสำเร็จไปใช้แล้ว ก็ย่อมจะอำนวยให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ปรารถนาได้ อาจสรุปได้ว่า แม้เพียงแต่การผสมโลหะต่างๆ ตามมูลสูตร แผ่เป็นแผ่นลงอักขระเลขยันต์ แล้วหล่อหลอมรวมกัน ก็ถือได้ว่าเป็นของวิเศษสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องรางของขลังได้ทันที ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า โลหะสัมฤทธิ์เป็นมงคลโลหะที่เหมาะสมที่สุดแก่การที่จะนำมาสร้างเป็นองค์พระปฏิมาโลหะสัมฤทธิ์ตามโบราณ ซึ่งใช้โลหะธาตุบริสุทธิ์ต่างๆ ตั้งแต่ ๓ ชนิดขึ้นไปและอย่างมากที่สุดจะไม่เกิน ๙ ชนิด หล่อหลอมผสมกันตามอัตราส่วนสำเร็จขึ้นมาเป็นโลหะชนิดใหม่เรียกว่า "สัมฤทธิ์" อย่างไรก็ดีโลหะสัมฤทธิ์จะต้องใช้โลหะตระกูลสูง ๒ ชนิด คือ ทองคำและเงิน เป็นส่วนผสมหลักอยู่ด้วยเสมอ มิฉะนั้นจะไม่ถือว่าเป็นโลหะสัมฤทธิ์ นอกจากนี้จะต้องมีโลหะยืนโรง อีกชนิดหนึ่ง คือทองแดง ซึ่งจะต้องใช้มากเพื่อให้ได้ปริมาณ

          ตระกูลของสัมฤทธิ์ที่ถูกต้องตามสูตรโบราณมีอยู่ ๕ ตระกูล คือ สัมฤทธิ์ผล สัมฤทธิ์โชค สัมฤทธิ์ศักดิ์ สัมฤทธิ์คุณ และสัมฤทธิ์เดช รวมเป็นสัมฤทธิ์ ๕ ตระกูล อันมีความพิสดารดังต่อไปนี้

          ๑. สัมฤทธิ์ผล คือสัมฤทธิ์แดง หรือตรีโลหะ มีมงคลความหมายถึง พระรัตนตรัยเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อสาม ผสมด้วยโลหะธาตุ ๓ ชนิด คือ ทองแดง เป็นส่วนใหญ่และเจือด้วยเงินกับทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะแดงคล้ายนาก แต่มีผิวเจือด้วยวรรณะคล้ำๆ คล้ายสีมะขามเปียก โบราณถือว่าเป็นมงคลวัตถุ อำนวยผลนานาประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเมตตามหานิยมพระพุทธรูปสมัยอู่ทองโดยเฉพาะพระพุทธรูปอู่ทองหน้าแก่มักสร้างด้วยเนื้อนี้

          ๒. สัมฤทธิ์โชค คือสัมฤทธิ์เหลือง หรือปัญจโลหะ เป็นโบราณนิยามหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อห้า ได้แก่ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เงิน ทองคำ มีวรรณะเหลืองคล้ายเนื้อกลองมโหระทึก หรือขันลงหิน มีแววนกยูงภายในเนื้อ เป็นสัมฤทธิ์ที่ให้คุณหนักไปทางด้านลาภผล กับความสำเร็จ พระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยบางยุคและพระเชียงแสน พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราชแพ บางรุ่น และพระกริ่งพระชัยวัฒน์ของท่านเจ้าคุณศรีสนธิ์บางรุ่นก็สร้างด้วยเนื้อนี้ 

          ๓. สัมฤทธิ์ศักดิ์ คือสัมฤทธิ์ขาว หรือสัตตโลหะ เป็นมงคลนามหมายถึง โพชฌงค์ ๗ คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา สัมฤทธิ์ศักดิ์เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเจ็ด ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว เงิน และทองคำ สัมฤทธิ์ตระกูลนี้มีวรรณะหม่นคล้ำน้อยๆ แต่มีแวววรรณะขาวผสมผสานอยู่ นับถือกันว่าอำนวยผลในด้านอำนาจ มหาอุด คงกระพัน แคล้วคลาด

          ๔. สัมฤทธิ์คุณ คือสัมฤทธิ์เขียว หรือนวโลหะ หมายถึงนัยของธรรมอันสูงสุดในพระศาสนา อันได้แก่ นวโลกุตรธรรม อันมี มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ สัมฤทธิ์คุณเป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดช ประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปรอท เหล็กละลายตัว ชิน จ้าวน้ำเงิน เงิน และทองคำ แต่สัมฤทธิ์ตระกูลนี้แก่ส่วนผสมของเนื้อเงินมากกว่าธรรมดา ฉะนั้น เนื้อภายในจึงมีวรรณะสีจำปาอ่อนหรือนากอ่อน แต่ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะถูกไอเหงื่อ จะมีวรรณะคล้ำเจือเขียวเตยหม่นแกมเหลืองอ่อนคล้ำมีแววขาวโดยตลอดเนื้อ สัมฤทธิ์ชนิดนี้อำนวยคุณวิเศษเช่นเดียวกับสัมฤทธิ์เดชทุกประการ

          ๕. สัมฤทธิ์เดช คือสัมฤทธิ์ดำ หรือนวโลหะ เป็นทองสัมฤทธิ์เนื้อเก้า เช่นเดียวกับสัมฤทธิ์คุณ แต่มีสัดส่วนการผสมได้เกณฑ์ถูกต้องตามมูลสูตรมากที่สุด ดังนั้นภายในจึงมีวรรณะจำปาแก่ หรือสีนากแก่ ผิวเนื้อเมื่อกลับคล้ำเพราะต้องไอเหงื่อ จะดำสนิท ประหนึ่งนิลดำ เรียกกันว่า "สัมฤทธิ์เนื้อกลับ" โบราณถือว่าสัมฤทธิ์นวโลหะทั้ง ๒ ประเภทนี้ เป็นสัมฤทธิ์ที่สมบูรณ์ที่สุด หรือเป็นยอดของสัมฤทธิ์ อำนวยผลในด้านมหาอุตม์อันสูงส่ง คืออำนาจตบะเดชะ มหานิยม ลาภผล ความสำเร็จ คงกระพัน แคล้วคลาด ทุกประการ สูตรผสมเนื้อสัมฤทธิ์เดช หรือนวโลหะ ที่เป็นตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ยุคกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาอยู่กับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (มา) ครั้งยังเป็นพระมงคลทิพยมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี ตามลำดับ

เกณฑ์อัตราส่วนผสมของโลหะทั้ง ๙ ชนิด มีดังนี้
๑. ชิน หนัก ๑ บาท
๒. จ้าวน้ำเงิน หนัก ๒ บาท 
๓. เหล็กละลายตัว หนัก ๓ บาท ๔. ตะกั่วเถื่อน หนัก ๔ บาท 
๕. ปรอท หนัก ๕ บาท ๖. สังกะสี หนัก ๖ บาท
๗. บริสุทธิ์ (ทองแดงเถื่อน) หนัก ๗ บาท ๘. เงิน หนัก ๘ บาท 
๙. ทองคำ หนัก ๙ บาท

 เช่นนี้น่าจะเรียกว่า สัมฤทธิ์โชค











ส่องเนื้อพระให้ชัด ๆ จะเห็นเส้น ๆ ตัดกันเป็นลายผ้า


เมื่อนำไปตรวจสอบพบว่ามีทองคำผสมอยู่บ้าง แต่เป็นปริมาณน้อย   ซึ่งในแต่ละองค์อาจมีปริมาณแตกต่างกันไปได้   ขึ้นอยู่กับส่วนผสมในแต่ละครั้งคราวในการหล่อหลอม   แต่ก็จะไม่ต่างกันมากนัก   นอกจากนี้การตรวจหาว่าองค์พระมีส่วนผสมของทองคำอยู่หรือไม่โดยนำไปตรวจที่ร้านทอง และใช้วิธีนำองค์พระขูดกับหินแล้วหยดน้ำกรดทดสอบ   ยังมีเหตุปัจจัยที่ทำให้บางองค์ตรวจพบทองคำผสมอยู่  แต่บางองค์กลับตรวจไม่พบ   ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากการหล่อหลอมโลหะในสมัยโบราณที่ยังใช้ความร้อนไม่สูงพอ   ทำให้โลหะแต่ละชนิดผสมรวมกันได้ไม่กลมกลืนดีนัก   เมื่อนำองค์พระไปขูดกับหินทดสอบ มุมที่ขูดไปนั้นอาจเป็นบริเวณที่มีทองคำผสมอยู่หรืออาจไม่มี ทำให้ตรวจไม่พบ   การตรวจสอบที่จะได้ผลชัดเจนยิ่งขึ้นคงต้องอาศัยเทคโนโลยี เช่น ตรวจด้วยเครื่อง X - ray Fluorescense Spectrometry

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านศึกษาและสะสมบูชาโดยคำนึงเรื่อง พุทธานุสติและพุทธานุภาพ ขององค์พระยิ่งกว่ามวลโลหะทองคำที่เป็นส่วนผสม   โดยเฉพาะพระสิงห์ ๑ กรุป่ายางนี้ ซึ่งเป็น พระบารมีในพระเจ้าสุทโธทนะ   มีพลังพุทธานุภาพสูงล้ำค่ากว่ามูลค่าสมมุติของทองคำเป็นไหน ๆ  ทั้งเป็นการยากที่จะหาพระเครื่องพระบูชาใด ๆ ที่มีพลังบารมีสูงเช่นนี้มาสักการะบูชาได้อีกแล้ว   ผู้ที่มีไว้บูชาถือได้ว่ามีบุญวาสนาเกี่ยวเนื่องกับองค์ท่าน   ขอให้ทำบุญอุทิศแด่องค์ท่าน เป็นการเชื่อมบุญเชื่อมวาสนา ให้องค์ท่านช่วยปกปักรักษาคุ้มครองให้เจริญรุ่งเรืองและปลอดภัยด้วยนะครับ

พระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ขนาดหน้าตัก ๗ หุน นอกจากองค์ที่มีเอกลักษณ์ฐานปิดที่มุมด้านซ้ายขององค์พระแล้ว   ยังพบองค์ที่ ฐานปิดด้านขวาขององค์พระ ฐานเว้าด้านหน้า ฐานตัน และฐานเว้าตื้นธรรมดาด้วย










ฐานปิดที่มุมด้านขวาขององค์พระ


ฐานปิดที่มุมด้านขวาขององค์พระ (ล้าง)











ฐานเว้าด้านหน้า


ฐานเว้าด้านหน้า (ล้าง)











ฐานตัน (เพิ่งพบเพียงองค์เดียว)


ฐานตัน (ล้าง)











ฐานเว้าตื้นธรรมดา ไม่ปิดมุมด้านใดด้านหนึ่ง


ฐานเว้าตื้นธรรมดา ไม่ปิดมุมด้านใดด้านหนึ่ง (ล้าง)



ปัญหาที่พบอีกประการหนึ่ง คือ   มีของปลอมหรือไม่   แล้วค่อยมาว่ากันต่อครับ ...

------------------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม (๗ เมษายน ๒๕๕๘)

พระปลอม   พระปลอมเป็นปัญหาโลกแตก แต่ก็เป็นเรื่องที่คลาสสิคมาก   เสน่ห์ของการสะสมพระส่วนหนึ่งก็เพราะมีของปลอมมาสร้างสีสรร   ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ต้องส่องกล้องดูพระกัน   หยิบองค์ไหนขึ้นมาก็แท้หมด   ก็ไม่ต้องมีเซียนพระ ไม่ต้องมีกล้องส่องพระ ไม่ต้องศึกษาถึงเนื้อพระ ผิวพระ และอายุ

พระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง มีของปลอมหรือไม่ ?   ผมไม่ทราบครับ   และถึงแม้จะมีของปลอม ผมก็ไม่บังอาจไปว่ากล่าวดูหมิ่น ดูแคลน หรือสบประมาท เช่นนั้น   พระที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือเหมือนกันไม่ได้หมายความว่าเป็นของปลอมเสมอไป   บางครั้งอาจเป็นพระที่พุทธศาสนิกชนหรือพระเกจิอาจารย์ท่านอื่น ๆ ได้เมตตาปลุกเสกหรือสร้างเอาไว้   การไปสบประมาทว่าเป็นของปลอมแม้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตกเป็นบาปได้   ผมจะกล่าวเพียงว่า มีพระที่มีพุทธลักษณะคล้ายกับพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ออกมาให้เห็นแล้วหลายลักษณะ   ไปชมภาพครับ


องค์ที่ ๑










องค์ที่ ๒









องค์ที่ ๑ และ องค์ที่ ๒ ไม่มีคราบกรุหรือร่องรอยของคราบกรุ   เนื้อพระคล้ายเงินยวง   พุทธลักษณะสง่างาม   แต่ไม่ปรากฏพลังพุทธคุณใด ๆ


องค์ที่ ๓










องค์ที่ ๔
(พระแบบองค์ที่ ๓ ซึ่งนำมาล้างแล้ว)













องค์ที่ ๓ และองค์ที่ ๔ มีคราบคล้ายคราบกรุ แต่ไม่ใช่คราบที่ล้างออกยากอย่างคราบกรุป่ายาง   พุทธลักษณะสง่างาม   เมื่อล้างแล้วปรากฏผิวเนื้อดำเงิน เห็นพรายเงินเหลือบ ๆ อยู่ในเนื้อ   บริเวณฐานจนถึงหัวเข่าที่ปรากฏสีดำเข้มกว่าส่วนอื่นเพราะนำไปทดสอบว่ามี เงิน ผสมอยู่หรือไม่   โดยเผาไฟให้ร้อนแล้วจุ่มน้ำกรด   หากเป็นเงินจะขึ้นเงาสีเงินสวย แต่หากไม่ใช่เงินจะดำ   ปรากฏว่า ดำ แต่ในอณูเนื้อยังมีสีเงินเหลือบอยู่โดยละเอียด   แสดงว่าอาจจะมีเงินผสมอยู่ด้วย   ตรวจพุทธคุณปรากฏพลังอ่อน ๆ


องค์ที่ ๕











องค์ที่ ๖
(พระแบบองค์ที่ ๕ ซึ่งนำมาล้างแล้ว)















องค์ที่ ๕ และองค์ที่ ๖ สีดำเข้มกว่าองค์ที่ ๓ มีคราบคล้ายคราบกรุ แต่ไม่ใช่คราบที่ล้างออกยากอย่างคราบกรุป่ายาง   พุทธลักษณะสง่างามเช่นเดียวกัน   เมื่อล้างแล้วปรากฏผิวเนื้อเหมือนเงิน และมีเกล็ดหรือผลึกสีทองทั่วทั้งองค์   ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นโลหะเงินหรือทอง หรือไม่   ตรวจพุทธคุณแล้วไม่ปรากฏพลังใด ๆ



องค์ที่ ๗









องค์ที่ ๗ มีคราบคล้ายคราบกรุสีขาว ๆ ทั้งองค์ และมีคราบสีคล้ำคล้ายดินหรืออย่างอื่นติดอยู่   ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพมาจากแผงพระ ไม่ทราบว่าแสงไม่พอหรือมือสั่นทำให้ภาพไม่ชัด ต้องขออภัย  แต่ก็พอมองเห็นลักษณะได้   เป็นลักษณะที่เพิ่งเห็นล่าสุด และเข้าใจว่าอาจจะมีลักษณะอื่น ๆ ตามออกมาอีก   ผมไม่ได้บูชามาเป็นตัวอย่างเพราะไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์มากไปกว่านี้

จะเห็นได้ว่า มีพระที่มีพุทธลักษณะคล้ายพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ออกมาหลายรูปแบบ   บางแบบเมื่อล้างแล้วปรากฏเนื้อพระสวยงามต้องตาต้องใจ   ยิ่งเมื่อเห็นเนื้อเงินหรือเนื้อทองด้วยแล้วยิ่งน่าตื่นตาเป็นยิ่งนัก   ทำให้หลายคนหลงทางด้วยอำนาจมนต์ตราของสิ่งสมมุติที่เย้ายวนให้เชื่อว่ามีมูลค่าสูง   แต่แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ .   


---------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม (๙ เมษายน ๒๕๕๘)


ความผิดพลาดเกี่ยวเนื่องกับหน่วยวัด   ตามที่ผมระบุหน่วยวัดเป็น “หุน”  ต้องยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการวัดของผมเอง   เนื่องจาก ๑ นิ้ว เท่ากับ ๘ หุน   ฉะนั้นองค์พระขนาดหน้าตัก ๓ หุนครึ่ง ที่ถูกต้องแล้วเป็น ๗ หุน   และขนาดหน้าตัก  ๘ นิ้ว ๓ หุน พิมพ์ฐานเตี้ย ที่ถูกต้องแล้วเป็น ๘ นิ้วครึ่ง   จึงได้แก้ไขในเนื้อความให้ถูกต้องแล้ว


เกี่ยวกับปริมาณพระขนาดบูชาที่มีปล่อยออกมามาก   ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าบริเวณที่ขุดมีความกว้างใหญ่เพียงใด และมีปริมาณพระมากขนาดที่ปล่อยออกมาจริงหรือไม่ ?   ประการแรก คนงานพม่าที่ลักลอบนำพระออกไป คงไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า นำออกไปมากน้อยเพียงใด มีพระขนาดบูชารวมอยู่ด้วยหรือไม่   ข้อมูลที่ได้จากผู้ที่ทราบเรื่องว่าคนงานพม่านำไปประมาณ ๙ ไหนั้น ก็เป็นเพียงการประมาณ   ส่วนภายหลังที่มีการทราบเรื่องนี้แล้วได้ดำเนินการขุดหาต่อ แต่ปกปิดเรื่องไว้ จะพบพระขนาดบูชามากน้อยเพียงใด คงต้องสืบข้อมูลเอาจากผู้ที่ควบคุมการขุด  แต่จะมีใครยอมเปิดเผยหรือไม่  สำหรับขนาดพื้นที่ที่ขุดก็เช่นเดียวกัน คงมีแต่เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ควบคุมการขุดเท่านั้นที่รู้   แต่จากการเดินสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าวผมคงกะประมาณเอาเองได้ว่าน่าจะราว ๑๐๐ - ๑๕๐ ตารางเมตร   พื้นที่ขนาดนี้จะเพียงพอรองรับปริมาณพระบูชาหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ เพราะไม่ทราบว่าปริมาณพระบูชาที่ถูกปล่อยออกมามีมากน้อยเพียงใด  

อย่างไรก็ดี ข้อมูลในทางจิตน่าจะช่วยให้ผู้ศรัทธาสะสมบูชาพระได้ถูกทางในระดับหนึ่ง   ผมแนะนำผู้ที่อีเมล์มาถามหลายคนว่า ให้บูชาขนาดหน้าตัก ๗ หุน (เดิมระบุผิดเป็น ๓ หุนครึ่ง), ๓ นิ้วครึ่ง (มีทั้งฐานเตี้ยและฐานสามขา) และ ๘ นิ้วครึ่ง พิมพ์ฐานเตี้ย (เดิมระบุผิดเป็น ๘ นิ้ว ๓ หุน)   เนื่องจากพระสิงห์ ๑ ขนาดดังกล่าวตรวจพบพลังพุทธานุภาพอันเป็นพระบารมีในพระเจ้าสุทโธทนะ  ซึ่งมีพลังที่สูงล้นยิ่ง   ส่วนพระบูชาขนาดอื่น ๆ ตรวจพบพลังพุทธานุภาพสูงเช่นกัน แต่ไม่ใช่พระบารมีในพระเจ้าสุทโธทนะ  พลังเทียบไม่ได้กับองค์ที่เป็นพระบารมีในพระเจ้าสุทโธทนะ  และไม่ได้สร้างในปี พ.ศ. ๑๒๖๗ !!!   ซึ่งอาจเป็นได้ว่าราชวงค์รุ่นหลัง ๆ ได้สร้างพระต่อเนื่องมาแล้วนำไปบรรจุไว้ในกรุเดียวกัน   หรือหากพิจารณาจากขนาดพื้นที่ที่ขุดพบกรุพระอาจสงสัยเลยเถิดไปอีกได้ว่า เป็นพระกรุอื่น   เรื่องนี้คงต้องรอเวลาในการสืบค้น ...

---------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม (๑๕ เมษายน ๒๕๕๘)

ดินหุ่นหรือดินไทย
กรณีที่มีผู้สงสัยเรื่องดินหุ่นใต้ฐานพระและโพสถามเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๘ ว่า   ได้พระกรุป่ายางมาขนาด ๘.๕ นิ้ว พิมพ์ฐานบัว  ชั่งน้ำหนักได้ ๗.๓ กก.   แต่เมื่อนำไปล้างคราบดินออกปรากฎว่า พบรูใหญ่ที่ขาขวา (ระหว่างขากับแขน)   พอเขี่ยดูข้างใน เจอทรายผสมขี้เถ้าสีออกขาวๆ  เลยใช้น้ำฉีดออกจนหมด  ปรากฏว่าข้างในกลวง   นำกลับไปชั่งใหม่ ไม่ถึง ๓ กก. จึงสงสัยว่าจะได้พระปลอม  ตามภาพที่ส่งมา








ต้องเรียนตามตรงในเบื้องต้นก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องพระบูชา   ข้อมูลต่อไปนี้จึงเป็นเพียงการวิเคราะห์และความคิดเห็นส่วนตัว หากผิดพลาดประการใดขอได้โปรดให้อภัย   และขอให้ผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อมูลโต้แย้งคัดค้าน อันจะนำไปสู่การศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน

การตรวจว่าพระพุทธรูปองค์ใดแท้ถึงยุคหรือไม่ นอกจากจะพิจารณาศิลปะว่าตรงยุคตรงสมัย   เนื้อพระเก่า เหี่ยวย่น มีสนิม ด้านในสึกเป็นโพรงใหญ่กว่ารูด้านนอก มีรอยสึกกร่อน แอ่งรูพรุนปลายเข็ม รอยชำรุดแตกร้าว เคาะที่ฐานนั่งมีเสียงดัง แปะๆ ไม่ใช่เสียงกังวาน   ถ้าตรงไหนในเนื้อพระสึกกร่อนจนเห็นเนื้อสำริด จะเห็นเป็นสีแดงปนเหลือง หรือค่อนข้างแดง หมองหม่น คล้ำ ซีด ไม่มันวาว ไม่เหลืองเหมือนทองเหลือง  ขอบด้านล่างมีผิวสนิมเหมือนกับผิวสนิมขององค์พระ ไม่ใช่เหลืองเหมือนทองเหลืองแล้ว     ยังพิจารณาจากดินหุ่นได้อีกประการ กล่าวคือ ดินหุ่นมักจะหนา แข็ง แห้งสนิท เมื่อเอานิ้วมือแตะดินหุ่นจะติดมือเล็กน้อยหรือไม่ติดมือเลย   พระที่มีอายุห้าร้อยปี ดินหุ่นก็ต้องมีอายุห้าร้อยปี   พระที่มีอายุพันปี ดินหุ่นก็ต้องมีอายุพันปีเช่นกัน   เมื่อดมดูจะไม่มีกลิ่น   แต่หากถูกน้ำจะได้กลิ่นไอดินเหมือนฝนตกในฤดูร้อน  
แล้วดินหุ่นหรือดินไทย คืออะไร .....
ในการสร้างพระพุทธรูปด้วยกรรมวิธีโบราณ เขาจะปั้นหุ่นดินขึ้นมาเป็นแบบ  แล้วใช้ขี้ผึ้งทาผิว   จากนั้นปิดด้วยดินนวลผสมขี้วัวทับอีกชั้น แล้วพอกดินธรรมดาจนหนา   ต่อมาก็สำรอกขี้ผึ้งออกด้วยความร้อน ทำให้เกิดช่องว่างเป็นแม่พิมพ์สำหรับเทหล่อเนื้อโลหะลงไป   เราจึงมักจะเรียกกันว่า งานหล่อโบราณเข้าดินไทย
ดินหุ่นหรือดินไทยที่เป็นแกนขององค์พระนั้นมีกรรมวิธีที่พิถีพิถันในการเลือกดิน   ซึ่งเป็นดินเหนียวที่ต้องมาจากแหล่งที่มีคุณภาพดินที่เหมาะในการปั้นพระ   ต้องมีการตากดินจนแห้งแล้วนำไปทุบ นำไปร่อน แล้วจึงนำไปผสมกับทรายในอัตราส่วนที่เหมาะ   ผสมน้ำแล้วนวดจนเหนียวแล้วจึงเอาไปปั้นขึ้นรูปพระ  
เมื่อผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงทั้งตอนสำรอกขี้ผึ้งและตอนเทหล่อ   ทำให้ดินรอบ ๆ องค์พระไหม้เป็นสีดำ ตรงกลางจะเป็นสีส้ม แข็งแกร่งมาก   มองด้วยสายตาจะเห็นความแห้งผาก เกาะตัวแน่น ไม่หลุดออกมาง่ายๆ   บางองค์ดินเต็มจนเหมือนฐานตัน บางองค์มีเกาะอยู่แค่ขอบ บางองค์ก็ถูกทะลวงออกกลวงโบ๋ เพื่อให้น้ำหนักเบา
สำหรับโรงงานหล่อพระย้อนยุคขายส่งตลาดท่าพระจันทร์   จะใช้ซีเมนต์แบบที่มีทรายละเอียดผสมแล้วพอกอุดที่ก้นองค์พระ พอปูนเกือบจะแห้งก็โรยผงดินทับลงไป กดให้เกาะที่ผิว   แล้วเป่าด้วยเครื่องพ่นไฟจนมีคราบไหม้    พอหายร้อนก็มาดูว่า เหมือน หรือ ไม่เหมือน แล้วค่อยๆ ใช้แปรงทาสีชุบอะไรบางอย่างปัดอีกที   บางรายทุบออกดูภายใน ก็พบว่ามีการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์อัดในองค์พระให้แน่น ๆ จนถึงฐาน   แล้วจึงโบกปูน พ่นไฟ และทาสีดำทับ   นอกจากนี้ยังมีพวกหัวใส ทะลวงเอาดินเก่าจากฐานพระองค์ที่แท้ มาใส่ในองค์ที่ทำเทียม ซึ่งต้องสังเกตให้ดีว่าดินนั้นมีร่องรอยเอากาวมาติดหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก

ที่นี้มาถึงปัญหาว่า เหตุใดดินหุ่นใต้ฐานพระสิงห์ ๑ ขนาด ๘ นิ้ว หรือ ๘ นิ้วครึ่ง จึงมีลักษณะไม่แห้งผาก ร่วนซุย หลุดออกมาง่าย ดมแล้วมีกลิ่นดินโดยยังไม่ต้องสัมผัสน้ำ   ปัญหานี้ตั้งสมมุติฐานได้ ๓ ประการ
๑. เป็นพระปลอม
๒. เป็นพระแท้ที่ถูกมือดีทะลวงเอาดินเก่าออกไป เพื่อนำไปใส่ในองค์ที่ทำเทียม
๓. เป็นพระแท้ เหตุที่ดินหุ่นใต้ฐานพระไม่เข้าลักษณะตามที่บรรยายมาเพราะเป็นพระบรรจุกรุไว้ในดิน ถูกทั้งความร้อน ความชื้น และน้ำ ตลอดเวลา   ทำให้ลักษณะทางกายภาพของดินหุ่นแตกต่างจากพระที่ไม่บรรจุกรุ

สมมุติฐานข้อ ๑ เป็นพระปลอม ?   หากเราพิจารณาจากพุทธศิลป์และเนื้อหาพระตามที่ได้ลงรูปไว้ให้ชม เปรียบเทียบกับที่ได้บรรยายมาแล้ว น่าจะตัดสมมุติฐานในข้อนี้ไปได้ไม่ยาก  จะคงเหลือปัญหาในเรื่องดินหุ่นที่ต้องพิจารณาในข้อต่อไป

สมมุติฐานข้อ ๒ เป็นพระแท้ที่ถูกมือดีทะลวงเอาดินเก่าออกไป เพื่อนำไปใส่ในองค์ที่ทำเทียม แล้วเอาดินใหม่ใส่เข้าไปแทน ?     วันก่อนผมนำพระสิงห์ ๑ ขนาดหน้าตัก ๘ นิ้วครึ่ง ฐานเตี้ย (บางท่านเรียกฐานเขียง) มาล้างสรงน้ำ   โดยใช้สายยางฉีดน้ำพรมองค์พระตลอดเวลาแล้วใช้แปรงสีฟันกับไขควงปลายแหลมมนค่อย ๆ แซะคราบดินและสิ่งสกปรกออก   พบว่าองค์พระมีรูอยู่หลายจุด เช่นเดียวกับองค์อื่น ๆ ที่เคยล้างมาแล้ว   ทำให้กังวลเล็กน้อยว่าน้ำจะซึมเข้าไปด้านในแล้วเป็นเหตุให้ดินที่แห้งดีอยู่แล้วกลับต้องชื้นเปียกและอาจหลุดร่วงออกมา   วันรุ่งขึ้นจึงนำพระมาวางผึ่งแดดทั้งวัน   และด้วยข้อสงสัยเรื่องดินหุ่นว่า องค์พระบรรจุกรุอยู่ใต้ดิน  ผิวองค์พระก็ยังมีคราบดินกรุจับอยู่หนาบ้าง บางบ้าง   แล้วใต้ฐานหล่ะจะไม่มีดินกรุจับอยู่บ้างเลยหรือ   หากเราเอาผิวดินซึ่งอาจเป็นดินกรุออก   ก็อาจจะได้เห็นดินหุ่นที่อยู่ด้านใน   จึงลองใช้ไขควงเขี่ยเปิดดินใต้ฐาน   ปรากฏว่าดินด้านนอกซึ่งดูเหมือนตากแดดแห้งดีแล้ว  แต่ดินด้านในยังชื้นแฉะอยู่มาก   เมื่อแซะลึกเข้าไปพบชั้นดินหลายสีโดยด้านนอกสุดส่วนที่ติดกับองค์พระเป็นสีดำ ถัดเข้าไปเป็นสีน้ำตาล สีส้ม และสีขาวตามลำดับ




 ใช้ไขควงแซะ พบดินเป็นชั้นสีหลายชั้น ดินมีความชื้นแฉะสูงมาก


นำแปรงสีฟันมาปัดแต่งให้สวยงาม



ลักษณะดินเป็นชั้นสีเช่นนี้น่าจะเกิดจากการให้ความร้อนเมื่อครั้งสร้างพระ   ซึ่งต้องผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงทั้งตอนสำรอกขี้ผึ้งและตอนเทหล่อดังที่บรรยายไว้แล้ว   ดินที่อยู่ด้านนอกสุดได้รับความร้อนมากที่สุดถึงขั้นไหม้จนเป็นสีดำ  ชั้นถัดไปเป็นสีน้ำตาลและสีส้ม ความเข้มของสีดินลดลงไปตามลำดับ   แต่สีดินดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าดินได้รับความร้อนจนสุกเหมือนอิฐ มีความแข็งแกร่ง   ส่วนดินชั้นในสุดเป็นสีขาว ซึ่งแสดงว่าได้รับความร้อนน้อยหรือไม่มากพอที่จะทำให้เนื้อดินสุก   และที่ชั้นดินสีขาวนี้ปรากฏลักษณะเม็ดละเอียดเหนียวหนืด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีคราบกาวแต่อย่างใด   จึงน่าจะเป็นดินเหนียวผสมทรายละเอียดตามสูตรการปั้นหุ่นพระ   หลักฐานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลงานหล่อโบราณการเข้าดินไทยตามที่บรรยายมาข้างต้น   พระองค์นี้จึงไม่น่าจะเป็นพระแท้ที่ถูกมือดีทะลวงเอาดินเก่าออกไป เพื่อนำไปใส่ในองค์ที่ทำเทียม แล้วเอาดินใหม่ใส่เข้าไปแทน

สมมุติฐานข้อ ๓ เป็นพระแท้ ดินหุ่นหรือดินไทยใต้ฐานพระก็แท้   แล้วเหตุไฉนดินหุ่นจึงมีลักษณะไม่สอดคล้องกับดินหุ่นของพระโบราณอย่างที่ควรจะเป็น คือ ไม่แห้งผาก แต่กลับร่วนซุย หลุดออกมาง่าย ดมแล้วมีกลิ่นดินโดยยังไม่ต้องสัมผัสน้ำ   เบื้องต้นผมให้คำตอบในใจไว้ก่อนว่า น่าจะเป็นเพราะพระบรรจุกรุไว้ในดิน ถูกทั้งความร้อน ความชื้น และน้ำ ตลอดเวลา   ทำให้ลักษณะทางกายภาพของดินหุ่นแตกต่างจากพระที่ไม่บรรจุกรุตามที่บรรยายคุณลักษณะของดินหุ่นหรือดินไทยมาว่า ต้องมีความแห้งผาก เกาะตัวแน่น ไม่หลุดออกมาง่ายๆ  เมื่อดมดูจะไม่มีกลิ่น   แต่หากถูกน้ำจะได้กลิ่นไอดินเหมือนฝนตกในฤดูร้อน   แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังหาองค์ความรู้มายืนยันไม่ได้ เพราะได้เห็นแต่ตัวอย่างพระบูชาที่ไม่บรรจุกรุหรือฝังดิน   ส่วนพระที่บรรจุกรุหรือฝังดินไม่มีตัวอย่างให้เห็นเลย   แต่แล้วผมก็ฉุกคิดขึ้นมาได้เหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านได้นำทางไว้ก่อนแล้ว   คือ เมื่อหลายวันก่อนมีโอกาสได้สนทนากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เป็นคหบดีในพื้นที่ ท่านมีพระเครื่องพระบูชาโบราณจำนวนมาก   ท่านเล่าว่าสมัยคุณพ่อของท่านเป็นนายตำรวจ ยังขี่ม้าเป็นพาหนะ ได้ไปนำเอาพระกำแพงกลับมาเก็บไว้เป็นลัง ๆ    สมบัตินี้ตกทอดแก่ท่าน และด้วยความที่ไม่รู้ประสา ต้องการล้างพระเพราะเห็นว่าไม่สวย จึงนำพระกำแพงแช่น้ำไว้ข้ามวัน   ปรากฏรุ่งขึ้นองค์พระยุ่ยเสียหายหมด   ผมยังถกเถียงท่านไปว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นพระเนื้อดินเผาที่มีอายุหลายร้อยปี เนื้อพระแกร่งมาก แช่น้ำเพียงเท่านี้ไม่น่าจะถึงกับยุ่ยเสียหาย   แต่ท่านก็ยืนยันเช่นนั้น และยังเล่าว่าการนำพระกำแพงขึ้นจากดินแรก ๆ ก็ไม่ทราบกัน ทำให้องค์พระเสียหายไปมาก   ภายหลังจึงระมัดระวังนำพระขึ้นมาผึ่งตากไว้ให้แห้งหลายวันกว่าจะแข็งตัว   เมื่อฉุกคิดถึงข้อมูลนี้ได้จึงสืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่น ก็ปรากฏสอดคล้องกัน คือ
ผู้ใช้นามแฝงว่า เงินโบราณ กล่าวถึงพระเนื้อดินว่า   “เนื้อดินเผาแกร่ง ๆ ที่ถูกฝังในดินเป็นเวลานาน  หากเมื่อทำการขุดพบ แล้วนำขึ้นจากหลุมขุด เพียงแค่หยิบจับแรงๆ ก็ยุ่ยคามือ หรือวางผึ่งลม เนื้อก็จะแยกแตกรานทันที”
เชียร ธีระศานต์ พูดถึงสภาพพระรอดที่เพิ่งขึ้นมาจากกรุว่าเหมือน ดินที่ฝังอยู่นาน ๆ ย่อมอมน้ำมีลักษณะเปื่อยยุ่ยไม่แข็งกระด้างเหมือนดินที่เผาใหม่
สำราญ  กาญจนคูหา พูดถึงการพบพระรอดซึ่งน่าจะเป็นพระที่ยังอยู่ในองค์เจดีย์ไม่ได้กระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ ในวัดว่า  พระรอดมักจะอยู่กับดินที่มีสีเหลือง หรือดินปนทราย ปนกับเศษอิฐ กากปูนที่อยู่กันสลับซับซ้อน   และยังอธิบายเหมือนกับเชียร ธีระศานต์ ด้วยว่า   “พระรอดขึ้นจากกรุใหม่ ๆ มีสภาพอ่อนคล้ายดิน ต้องนำไปตากไว้ในที่ร่มเพื่อให้พระแห้งอย่างช้า ๆ เป็นเวลาถึง ๑๕ วัน   ส่วนคราบกรุนั้นมีสภาพแข็งแกร่ง ล้างน้ำแบบธรรมดาไม่ออก ต้องใช้ไม้ไผ่เหลาปลายแหลมแบบไม้หมูปิ้งค่อย ๆ แซะแล้วเอาพู่กันอ่อน ๆ ปัดออก   สภาพพระเนื้อดินที่ฝังกรุนาน ๆ จะเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระลำพูนหรือพระกำแพงเพชรถ้าคนไม่รู้ ได้มาจากกรุใหม่ ๆ เอาไปล้างน้ำและเอาแปรงถูทำความสะอาด พระอาจละลายหรือถูกแปรงทำให้เสียหายได้
ขอบคุณข้อมูลจาก











จากหลักฐานข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า   แม้แต่พระรอดลำพูนซึ่งเป็นพระดินเผาเนื้อแกร่งมีอายุกว่าพันปี (สร้างในเวลาใกล้เคียงกับพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง)   เมื่อนำขึ้นจากกรุใหม่ ๆ ก็มีสภาพอ่อนตัว   ต้องนำไปผึ่งตากในที่ร่มให้แห้งอย่างช้า ๆ เป็นเวลาถึง ๑๕ วัน   ดินหุ่นหรือดินไทยใต้ฐานพระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ขนาดหน้าตัก ๘ นิ้ว หรือ ๘ นิ้วครึ่ง ก็อนุมานได้ว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน   องค์พระถูกฝังอยู่ในดิน มีความชื้น และถูกน้ำจากผิวดินที่ซึมลงไปสะสมอยู่นานนับพันปี   เมื่อนำองค์พระขึ้นมาก็ยังปรากฏว่า แม้แต่องค์พระเองที่เป็นสำริด บางองค์มีความบิดงอ บิ่น หัก   ดินหุ่นใต้ฐานพระเมื่อมองดูจากภายนอกเหมือนว่าจะแห้ง   แต่ภายในชื้นแฉะอมน้ำและความชื้นไว้สูงมาก   อีกทั้งดินอยู่ภายในองค์พระซึ่งมีลักษณะกึ่งปิด และมีความหนาของเนื้อดิน น้ำและความชื้นระบายออกได้ยาก   แม้การนำองค์พระออกผึ่งแดดทั้งวันก็ยังไม่สามารถทำให้ดินภายในแห้งได้   เช่นนี้เองจึงเป็นเหตุให้ผู้ที่สอบถามมาว่า บูชาพิมพ์ฐานบัวมาชั่งน้ำหนักได้ ๗.๓ กก.   แต่เมื่อนำไปล้างคราบดินและดินหุ่นใต้ฐานพระออกจนหมดแล้วนำกลับไปชั่งใหม่ ได้น้ำหนักไม่ถึง ๓ กก.   น้ำหนักหายไปกว่า ๔ กก. เพราะนำดินที่อุ้มน้ำซึ่งมีน้ำหนักมากออกไปแล้ว
รูปพระที่ส่งมาไม่ชัด แต่พอเห็นลักษณะผิวพระและองค์พระได้ว่าน่าจะเป็นพระแท้   ส่วนปัญหาว่าใช่กรุป่ายางหรือไม่ ยังคงต้องรอเวลาในการสืบค้นอย่างที่ได้บรรยายไว้แล้ว   เสียดายที่ไม่ทราบว่าลักษณะดินหุ่นเป็นชั้น ๆ หรือไม่   และการใช้น้ำฉีดล้างดินหุ่นออกไปจนหมด ทำให้ไม่ทราบว่ามีบรรจุพระธาตุไว้บริเวณเศียรพระอย่างองค์ฐานเตี้ยหรือไม่   เพราะหากมีก็คงถูกน้ำชะล้างปะปนไปกับดินทรายจนหมด .....


------------------------------------------------------------------------------------------


ข้อมูลเพิ่มเติม (๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘)


มีผู้สนใจท่านหนึ่งชื่อ Yutana Kantayot (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ให้ข้อมูลว่าพบพระบูชาทองคำ   จึงขออนุญาตนำข้อมูลมาลงเพื่อให้สมาชิกได้พิจารณาศึกษาหาข้อมูลกันว่า ใช่พระกรุป่ายางหรือไม่ หรือเป็นพระกรุอื่น   ถ้าท่านใดมีข้อมูลนำเสนอสามารถเพิ่มความเห็นได้ที่หน้าเว็บนี้ หรือทางอีเมล์ครับ











คุณ Yutana ติดต่อทางอีเมล์โดยให้ข้อมูลมาว่า   
เป็นพระของท่านพระอาจารย์ วัดหนึ่งในจังหวัดเชียงรายที่อนุญาตให้ผมชมและถ่ายรูป หน้าตักประมาณ7 นิ้ว เป็นทองคำแท้เช็คจากร้านทองแล้ว ฐานตันหนักประมาณหนึ่งกิโล ตอนได้มาครั้งแรกมีสนิมและขี้กรุปกคลุมเป็นชั้นหนาแบบเดียวกับกรุป่ายาง สนิมเขียวที่มองเห็นบาง บางในรูปผมลองเอามือเช็ดถูออก สักพักก็กลับมาเหมือนเดิมครับ เก่าแน่นอนครับยืนยันครับ ผมอยากส่งมาไห้คุณดูและเป็นประโยชน์และสนับสนุนเปิดเผยความจริงให้พวกอ้างตัวเป็นเซียนพระทั้งหลายที่ไม่ยอมรับความจริงชอบบอกว่าพระคนอื่นปลอม และไม่ดูความเก่าที่เป็นธรรมชาติ คิดว่าตัวเองเก่งดูแป๊บเดียวก็บอกว่าปลอม ไม่พิจารณาให้ละเอียดพวกนี้จำได้หมายรู้จากตำราและเล่นหายอมรับเฉพาะเชิงพานิชย์ ส่วนพระกรุที่พบใหม่ไม่เคยเห็นก็จะบอกว่าปลอม ช่างมันครับ

“ผมได้คุยทางโทรศัพท์กับพระอาจารย์อีกครั้ง ท่านบอกว่าได้มาจากฝั่งลาวมีสนิมและขี้กรุหนามองไม่เห็นเนื้อใน องค์นี้ขนาดวัดที่ฐานได้ 5"กว่าหนักจริงประมาณ 2 กิโลครับ รายละเอียดแน่ชัดผมจะไปดูเองอีกครั้งแล้วจะมาบอกนะครับ ส่วนกรุวัดป่ายางท่านก็ให้มา 2 องค์ ประมาณห้อยคอขนาด 7 หุน
ท่านอนุญาตให้ลงในเวปได้ครับ และถ้าหากมีใครสนใจก็เสนอราคามาได้ครับ ท่านจะเอาเงินสร้างวัดครับ

ช่วยบอกเบอร์คุณเผื่อจะได้คุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันนะครับ”


โดยความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าพุทธศิลป์ต่างกัน และไม่น่าจะใช่พระกรุป่ายาง   สมาชิกท่านอื่นมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ ?
สำหรับเบอร์โทรศัพท์ ผมเคยลงไว้ แต่เนื่องจากมีบ่อยครั้งที่ไม่สะดวกรับสาย จึงต้องลบเบอร์ออก ต้องขออภัยด้วย   ติดต่อทางเมล์สะดวกที่สุดแล้วครับ
และสำหรับผู้ที่โพสความเห็นว่า “พระกรุป่ายางเป็นพระปลอม” นั้น   ผมมิได้โต้แย้งใด ๆ เพราะเห็นว่า   มนุษย์เราย่อมมีความแตกต่างทางความรู้ ความคิด ประสบการณ์ โอกาส ฯลฯ  อันเนื่องจากบุญบารมีหรือบุพกรรมที่เคยกระทำกันมา   จะให้ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกันหมดเป็นไปไม่ได้   อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นใด ๆ ขอให้กล่าวด้วยถ้อยคำที่สุภาพ   ไม่ว่ากล่าว ดูถูก กล่าวหา หรือ ด่าว่า บุคคลใด ๆ ครับ

____________________________________________


ข้อมูลเพิ่มเติม (๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘)

พุทธคุณ

หลายวันก่อนมีโอกาสได้พบกับอาจารย์ท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ท่านศึกษาการแพทย์แผนจีนจากนานกิง สรรพวิชาจากทิเบตและวัดเส้าหลิน เชี่ยวชาญกาย จิต พลัง มนตราบำบัด อัญมณีบำบัด ดนตรีบำบัด และแน่นอนว่าเชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐาน   เป็นที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษในหลายสถาบัน   ความรู้และประสบการณ์ท่านมากมาย หากเอ่ยชื่อเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงจะรู้จัก   ได้มอบ พระสิงห์ ๑ กรุป่ายาง ขนาด ๗ หุน ให้ท่านหนึ่งองค์   ท่านวางไว้บนฝ่ามือบริเวณเหลากง สองมือประสานกัน แล้วท่านให้ข้อมูลว่า “พระองค์นี้อายุไม่น้อยกว่า ๘๐๐ ปี ผู้ที่เป็นเจ้าพิธีสร้างนั้นเป็นผู้ใหญ่ในทางศาสนา มีศักดิ์ระดับสังฆราช หรือสังฆราชแห่งล้านนา โดยสมัยโบราณนั้นทางล้านนามีสังฆราชเป็นของตนเอง   พิธีสร้าง...เจ้าพิธีต้องเข้าสมาบัติไม่น้อยกว่า ๗ วัน เตรียมกายเตรียมใจให้สะอาด ขั้นตอนการสร้างเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด จนกระทั่งเทหล่อเสร็จก็เป็นอันเสร็จพิธีแล้ว แทบจะไม่มีการกระทำใด ๆ อีก ต่างจากการสร้างพระในสมัยนี้   พลังมาแบบนุ่ม แน่น แรง คือแรงแบบนุ่มนวลมาก เป็นพลังทางเมตตาซึ่งแผ่ออกไปกว้างไกล ผู้ที่คิดร้ายจะกลับใจ เปลี่ยนความคิด ยิ่งจับนานพลังก็ยิ่งมาแรงขึ้น ไม่มีตก ไม่มีประมาณ ต่างจากพระอื่น ๆ ที่พลังถึงจุดหนึ่งแล้วจะตกลง   สาธุ สาธุ สาธุ ...


------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม (๗ กันยายน ๒๕๖๑)



ยังคงมีออกมาให้เห็นเรื่อย ๆ กับพระทำเลียนแบบครับ ...











------------------------------------------------------------------------------------------